นับตั้งแต่เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ผลจากการก่อรัฐประหารของคณะนายทหารเมียนมา ที่มี พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นผู้นำชาวเมียนมา ได้ออกมารวมตัวประท้วงอย่างหนัก โดยเฉพาะในหัวเมืองต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคขณะที่ ฝ่ายทหาร ตำรวจ ใช้มาตรการตอบโต้อย่างรุนแรงเช่นกัน มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และอีกจำนวนมากถูกจับไปขังโดยไม่รู้ชะตากรรม
อย่างเช่นเมือง พยาปอน (Pyapon) ในเขตอิรวดี ภาคกลางตอนบนของเมียนมา หรือเมืองมัณฑะเลย์ ผู้ชุมนุมที่ออกมาประท้วง ถูกทหารพม่าใช้ปืนยิงใส่
รวมถึงในนครย่างกุ้ง มีการยิงใส่ผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้เวลาผ่านมากว่า 6 สัปดาห์
ข้อมูล ณ วันที่ 17 มีนาคม ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศมีกว่า 200 คน
ที่น่ากลัวก็คือ มีประชาชนที่ถูกจับกุมอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกหลายร้อยคน ที่ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าไปอยู่ที่ใด
ขณะที่การตรวจสอบข้อมูลทำได้ยากลำบากขึ้นทุกวัน เพราะมีการใช้กฎอัยการศึก การสื่อสารถูกตัดขาด
อย่างไรก็ตาม ยิ่งทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐประหารเผด็จการมากยิ่งขึ้น พร้อมมีการปรับแผน วางกลยุทธ์การต่อสู้ใหม่ โดยชุมนุมหลายจุดในเวลาเดียวกัน
มีการชุมนุมตลอดทั้งคืนโดยไม่แยกย้าย สถานการณ์กำลังสุกงอมเต็มที่ ใกล้ถึงจุดแตกหักเต็มที
ล่าสุด มีการเผาโรงงานในเขตอุตสาหกรรมนครย่างกุ้ง ซึ่งเจ้าของเป็นนักธุรกิจชาวจีนไปถึง 32 แห่ง
จุดหมายคือประเทศไทย ซึ่งในช่วงสัปดาห์ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์บ่งบอกถึงการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ของหลายฝ่าย
พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกพร้อมคณะเดินทางตรวจความพร้อมพื้นที่รองรับผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมา ในพื้นที่จังหวัดตาก เข้ารับฟังการบรรยายสรุปที่กองบังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 อำเภอแม่สอด โดยพลโทอภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3
ช่วงบ่าย เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจพื้นที่แรกรับ สนามฟุตบอลบ้านสวนอ้อย ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จากนั้นเดินทางไปตรวจพื้นที่รวบรวมพลเรือนที่โรงเรียนชุมชนบ้านท่าสองยางแห่งใหม่ และเดินทางไปตรวจพื้นที่แรกรับ ท่า 19 บ้านวังผา ตำบลแม่จะเรา อำเภอแม่ระมาด
เดินทางต่อไปยังพื้นที่รวบรวมผู้หนีภัยจากการสู้รบ อบต.วาเล่ย์ ตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ ตรวจพื้นที่แรกรับที่โรงเรียนบ้านมอเกอ ตำบลวาเล่ย์ ตรวจพื้นที่รวบรวมพลเรือนที่สนามกีฬา 5 อำเภอชายแดน ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด และตรวจพื้นที่รวบรวมผู้หนีภัยจากการสู้รบที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 346 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด เป็นจุดสุดท้าย
พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภายในของประเทศเมียนมา ยังคงมีผู้ชุมนุมออกมาประท้วงทุกวัน ขณะที่ทางฝ่ายความมั่นคงของไทยได้เฝ้าระวังตามแนวชายแดน
นอกจากปัญหาการลักลอบข้ามแดนในช่วงการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการลี้ภัย รวมถึงเหตุการณ์ไม่สงบจากประเทศเมียนมา ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งจังหวัดตากได้มีการเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น
“นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย จึงได้เดินทางมาดูการเตรียมความพร้อมชายแดนด้านนี้ เพราะปัจจุบันเรื่องโควิดของเราดีขึ้นทุกวัน หากเกิดเหตุมีคนทะลักเข้ามาเราจะรับมืออย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดภาระกับเราอีก โดยขณะนี้ได้มาเน้นย้ำการป้องกันชายแดน และสกัดกั้นการกระทำความผิดกฎหมายทุกประเภทในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วย นอกจากนี้ได้เน้นย้ำการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารภายใต้สถานการณ์โควิด-19”
สำหรับการเตรียมสถานที่เพื่อรองรับ “ผู้อพยพ” ใน จ.ตาก 7 แห่ง ประกอบด้วย
อำเภอท่าสองยาง เตรียมสนามฟุตบอลบ้านสวนอ้อย ตำบลท่าสองยาง เป็นสถานที่แรกรับ และเตรียมสถานที่โรงเรียนชุมชนท่าสองยาง เป็นที่รวบรวมพลเรือนที่หนีภัยการสู้รบ
อำเภอแม่ระมาด เตรียมพื้นที่บริเวณท่าเรือที่ 19 บ้านวังผา ตำบลแม่จะเรา อำเภอแม่ระมาด เป็นสถานที่แรกรับผู้อพยพ
อำเภอพบพระ ได้เตรียมพื้นที่แรกรับ ที่ อบต.วาเล่ย์ ตำบลวาเล่ย์ และเตรียมพื้นที่รวบรวมผู้หนีภัยจากการสู้รบที่โรงเรียนบ้านมอเกอไทย ตำบลวาเล่ย์
อำเภอแม่สอด เตรียมพื้นที่สนามกีฬา 5 อำเภอชายแดน ตำบลแม่ปะ เป็นที่รวบรวมพลเรือน และสนามฟุตบอล กองร้อย ตชด.ที่ 346 ตำบลท่าสายลวด เป็นพื้นที่รวบรวมผู้หนีภัยจากการสู้รบ
อีกด้านหนึ่ง ความเคลื่อนไหว และท่าทีของ รัฐกะเหรี่ยง ในจังหวัดเมียวดี และจังหวัดผาอัน ก็น่าจับตาอย่างยิ่ง
กลุ่มทหารกะเหรี่ยง ได้หันไปสนับสนุนผู้ประท้วง มีการถือธง ถือปืนเดินนำหน้าประชาชนไปตามถนน ทำให้ทหารเมียนมาไม่ปลื้มเป็นอย่างมาก
ยังไม่รวมชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ต่างมี “รัฐอิสระ” ของตัวเองกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของเมียนมา ทั้งมอญ ไทใหญ่ อาระกัน ฯลฯ ที่พร้อมขัดแย้งแข็งขืน สร้างประเทศ มีผู้นำปกครองกันเอง
รัฐประหารของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่คู่กรณีคือ ออง ซาน ซูจี ในครั้งนี้จะสัมฤทธิ์ผลสมความมุ่งมาดปรารถนาของเหล่าแม่ทัพนายกอง
หรือจะทำให้พม่าต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ อีกครั้ง