ถึงเวลาที่หลายคนคิดกันอยู่แล้วว่าเมื่อไหร่ธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ ๑๐) ให้จัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ทุกชนิดราคา เพื่อใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป โดยได้รับพระราชทานวันออกใช้ธนบัตร ดังนี้
ชนิดราคา ๒๐ บาท, ๕๐ บาท และ ๑๐๐ บาท ออกใช้ในวันจักรี ๖ เมษายน ๒๕๖๑
ชนิดราคา ๕๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท ออกใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ด้านหน้าของธนบัตร ได้รับพระราชทานพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกองทัพอากาศ เป็นภาพประธานในธนบัตรทุกชนิดราคา ด้านหลังธนบัตรแต่ละชนิดราคา เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ เรียงตามลำดับรัชกาล โดยมีภาพประกอบเป็นภาพหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของแต่ละพระองค์ ที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ และจารึกอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย
ธนบัตรแบบ ๑๗ นี้ มีขนาดและโทนสีเช่นเดียวกับธนบัตรแบบ ๑๖ สำหรับลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง ยังคงลักษณะสำคัญของธนบัตรไทยไว้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ได้ปรับปรุงใหม่ในบางส่วนให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้ แถบสีโลหะ ปรากฏที่ด้านหน้าของธนบัตร และในชนิดราคา ๑๐๐ บาท ภายในแถบสีมีการเคลื่อนไหว หมวดอักษรโรมันและเลขหมายอารบิก ปรับวางตามแนวตั้ง
ประชาชนสามารถเบิกถอนธนบัตรแบบใหม่นี้ได้ตามช่องทางปกติ ผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง รวมถึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ธนบัตรทุกแบบที่ออกใช้ก่อนหน้านี้ยังสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ส่วนสำหรับธนบัตรรุ่นเก่าที่มีพระสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 นั้น เชื่อว่าชาวไทยหลายคนคงจะเริ่มเก็บสะสม เพื่อเป็นหนึ่งในความทรงจำครั้งหนึ่งที่เกิดในรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างที่แน่นอน
ที่มา – brighttv