ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านโคกสูง ต.โคกสูง อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ว่าครอบครัวไม่ได้รับความเป็นธรรม และอยากจะให้เป็นกรณีศึกษา หากเด็กนักเรียนได้รับอันตรายภายในโรงเรียนครู ผอ.ควรจะดำเนินการอย่างไร นางสาวกรรณิการ์ คำโส อายุ 42 ปี เลขที่ 55 หมู่ 1 ต.โคกสูง อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ 1 ต.โคกสูง อ.หนองกี่ จ บุรีรัมย์ ผู้ร้องเรียนได้พา น้องเตเต้ อายุ 5 ขวบ นักเรียนชั้นอนุบาล 3 มาให้ผู้สื่อข่าวดู สภาพแขนซ้ายที่เข้าเฝือกเพราะแขนหัก
น.ส.กรรณิการ์ เล่าว่า ตนเลี้ยงน้องเตเต้ ตั้งแต่อายุ 3 เดือน เพราะพ่อแม่ออกไปทำงานรับจ้างอยู่ต่างจังหวัด ส่วนตนมีศักดิ์เป็นอา อาชีพรับราชการ จึงอาสาเลี้ยงไว้เพราะสงสาร ทุกเช้าหรือเย็นคนในครอบครัว จะผลัดกันไปส่งน้องที่โรงเรียน พอโตขึ้นบางครั้งน้องก็เดินไปหรือกลับเองบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นมีใครว่างที่จะไปรับหรือไปส่งน้อง เพราะบ้านอยู่ไม่ห่างจากโรงเรียน วันเกิดเหตุคือวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตอนเย็นตนได้บอกให้พี่ชายไปรับหลานที่โรงเรียน เพราะยังอยู่ในที่ทำงานซึ่งตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านเดียวกันกับโรงเรียน เวลาประมาณ 16.00 น.พี่ชายวิ่งมาบอกว่า ”หลานแขนหัก” ตนจึงรีบกลับมาดูน้องที่บ้าน ยอมรับว่าตกใจมากเมื่อเห็นสภาพหลาน เพราะน้องร้องไห้ตัวสั่น พบแขนซ้ายหักผิดรูป
เมื่อสอบถามหลานบอกว่าแขนหักตั้งแต่ตอนเที่ยงวัน จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลนางรอง อ.นางรอง เพราะรู้ว่าโรงพยาบาลหนองกี่ ไม่มีหมอกระดูก ซึ่งกว่าหมอจะช่วยเหลือได้เป็นเวลาประมาณ 22.00 น.วันเดียวกัน วันต่อมาคือวันอังคาร ตนได้ไปถาม ผอ.ที่โรงเรียนว่าเกิดอะไรขึ้น ได้รับคำตอบครูประจำชั้นว่า “เห็นตั้งแต่ตอนเที่ยง” แต่เด็กไม่ได้ร้องไห้ ไม่ได้ขอความช่วยเหลือ
วันต่อมา ทั้ง ผอ.และครูประจำชั้น นำกระเช้ามาขอโทษที่บ้าน บอกว่าทางโรงเรียนจะเยียวยาที่ปล่อยปะละเลยเด็ก จนกระทั่ง ผอ. เป็นคนสรุปว่าจะขอจ่ายเงินเยียวยาให้เป็นจำนวนเงิน 55,000 บาท จึงโทรศัพท์ไปบอกพ่อแม่เด็ก นัดจ่ายเงินในวันที่ 20 มิ.ย. ส่วนหนึ่งครอบครัวรู้สึกเห็นใจโรงเรียน จึงตกลงกันว่า จะมอบเงินจำนวน 20,000 บาท คืนให้โรงเรียนไว้ไปซื้อกล้องวงจรปิด เมื่อถึงวันที่ 20 มิ.ย.ได้นัดกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ทางครอบครัวได้เตรียมเงินจำนวน 20,000 บาท ใส่ซองไว้เตรียมมอบให้ ผอ.เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อไปถึงที่นัดหมาย ผอ.และคณะกรรมการสถานศึกษา พร้อมครูประจำชั้น มากันพร้อมหน้า สุดท้าย ผอ.เป็นคนเอ่ยปากเองว่า ”ไม่มีเงินแม้บาทเดียวถ้าอยากได้ก็ต้องไปฟ้องเอา
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวด้วยว่ารู้สึกผิดหวังของการบริหารของโรงเรียน สิ่งที่ยังคาใจไม่หายคือ เด็กแขนหักขนาดนั้น ทำไมครูไม่รู้ไม่เห็น แต่ทำไมเพื่อนหลานรู้กันทั้งห้อง แล้วสภาพของหลานคือแขนหักไม่ใช่ปวดท้อง มองด้วยตาเปล่าเห็นชัดเจน อีกทั้งยังไม่พาเด็กไปหาหมอ ไม่แจ้งผู้ปกครองทราบ ปล่อยเวลาล่วงเลยไปหลายชั่วโมง จนหมอที่โรงพยาบาลทักตอนไปรักษาว่า ทำไมปล่อยไว้นานขนาดนี้ เพราะอันตรายแขนอาจจะได้รับผลกระทบหลังรักษาหายแล้ว ตอนนี้ครอบครัวได้ร้องไปยังศูนย์ดำรงธรรม และแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนที่ สภ.หนองกี่ ไว้แล้ว แต่เรื่องยังเงียบอยู่
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนตัวอยากจะให้เป็นกรณีศึกษา ว่าครูผู้สอนควรจะใส่ใจกับเด็กนักเรียนอย่างไร ผู้บริหารควรจะมีมาตรการอย่างไรสำหรับครูที่ไม่สนใจเด็กนักเรียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คลิปจากกล้องวงจรปิด เผยเด็กโตในโรงเรียนเนอสเซอรี่แห่งหนึ่ง กำลังทำร้ายเด็กที่เล็กกว่า