เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

“นายทวารัฐ สูตะบุตร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ “นายศิริ จิระพงษ์พันธ์” รมว.พลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ให้อยู่ระดับ 363 บาทต่อขนาดถัง 15 กิโลกรัม (ก.ก.) ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.-31 ธ.ค. 2561 บนพื้นฐานราคาแอลพีจีตลาดโลกที่เคลื่อนไหวระดับ 540 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งยอมรับว่าหากแอลพีจีตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีกอาจต้องหาแนวทางอื่นเข้ามาดูแลแทน รวมทั้งให้ต่ออายุโครงการลดราคาแอลพีจีแก่ผู้ค้าอาหารขนาดเล็ก (หาบเร่ แผงลอย) ให้อยู่ในระดับ 325 บาทต่อถัง 15 ก.ก. โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะรับภาระเป็นวงเงินรวมประมาณ 250 ล้านบาท แบ่งเป็นครัวเรือน 7.56 ล้านครัวเรือน และร้านค้า 3.95 แสนราย

“การตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีให้อยู่ในระดับนี้ ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนจของบัญชีแอลพีจีเข้ามาอุดหนุนเดือนละ 346 ล้านบาทต่อเดือน จากเงินกองทุนปัจจุบันที่เหลืออยู่ 392 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ต้องติดตามสถานการณ์ราคาแอลพีจีตลาดโลกเป็นรายสัปดาห์ หากเดือนก.ค.นี้ ราคาแอลพีจีตลาดโลกสูงขึ้นไปอีก จะทำให้เงินกองทุนไม่เพียงพอ และอาจต้องพิจารณาแนวทางให้โรงกลั่นหรือผู้นำเข้ารับภาระก่อนแล้วนำเงินกองทุนมาใช้คืนภายหลัง หรือนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในบัญชีน้ำมัน 30,305 ล้านบาท มาช่วยเหลือ แต่แนวทางนี้จะเป็นแนวทางสุดท้าย”

นอกจากนี้ กบง. ยังมีมติปรับอัตราเงินชดเชยน้ำมันอี 20 และอี 85 ลง 0.37 บาทต่อลิตร จากอี 20 ชดเชย 3.00 บาทต่อลิตร เป็น 2.63 บาทต่อลิตร และอี 85 จากชดเชย 9.35 บาทต่อลิตร เป็น 8.98 บาทต่อลิตร ขณะที่ให้เพิ่มการจัดเก็บน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อีก 0.37 บาทต่อลิตร ทำให้น้ำมันเบนซินนำส่งเงินเข้ากองทุนจาก 6.31 บาทต่อลิตร เป็น 6.68 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 จาก 0.35 บาทต่อลิตร เป็น 0.72 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ 91 จาก 0.35 บาทต่อลิตร เป็น 0.72 บาทต่อลิตร ซึ่งมีส่วนช่วยให้เงินกองทุนฯ ในบัญชีน้ำมันมีสภาพคล่องดีขึ้น และสามารถรองรับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่จะปรับสูงขึ้นช่วงปลายปีได้

อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับลดอัตราเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลบี 20 ลงเหลือ 5.1523 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลบี 7 ที่มีกำหนดเริ่มจำหน่ายในตลาดเดือนก.ค.นี้ จะถูกกว่าน้ำมันดีเซลบี 7 เป็นเงิน 3 บาทต่อลิตร ขณะที่รัฐจะเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลบี 7 อีก 0.14 บาทต่อลิตร เป็นจัดเก็บ 5.9895 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันฐานภาษีน้ำมันดีเซลทุกชนิด (บี 3 บี 5 และบี 7) เรียกเก็บในอัตรา 5.85 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้กระทบรายได้ประเทศมากนัก แต่กระทรวงพลังงานก็จะนำเงินกองทุนฯ เข้าไปชดเชยในส่วนของบี 7 ที่อัตรา 0.14 บาทต่อลิตรให้ด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกแก่ประชาชนเช่นเดียวกัน

“นายทวารัฐ” กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กบง. ยังรับทราบตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอแนวทางดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 สนับสนุนความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด พัฒนาระบบทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงโดยวิศวกรไทย เป็นต้นแบบการผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่างเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับไฟฟ้าจากเขื่อน ในพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ. กาญจนบุรี กำลังผลิต 500 กิโลวัตต์ คาดจะติดตั้งแล้วเสร็จเดือนธ.ค.2561

ระยะที่ 2 การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เพื่อต่อยอดผลการวิจัยและพัฒนาระบบเชื่อมต่อที่มีอยู่เดิมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี บนพื้นที่ 450 ไร่ กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 89.53 ล้านหน่วยต่อปี และระยะที่ 3 กำหนดศักยภาพพื้นที่ติดตั้ง 11 เขื่อนทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพการผลิตรวมกว่า 1,000 เมกะวัตต์ เช่น เขื่อน กฟผ. เขื่อนกรมชลประทาน และอ่างเก็บน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ เพื่อให้โครงการฯ สามารถแข่งขันภายใต้รูปแบบไฮบริด เฟิร์ม และขยายผลการพัฒนาโครงการสู่ภาคเอกชน