เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 4 ก.ค. 61  นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยผลการบูรณาการปราบปรามแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายของชุดปฏิบัติการ 113 ทีม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่

กรมการจัดหางาน(กกจ.) ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ที่ร่วมกันออกตรวจตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หลังปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS)

พบว่าล่าสุดตั้งแต่ 1-3 กรกฎาคม 2561 เพียง 3 วันสามารถตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการได้ 298 ราย พบกระทำความผิด 26 ราย แบ่งเป็น ดำเนินคดีในข้อหารับคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 22 ราย และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 4 ราย

ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 2,879 คน พบกระทำความผิด จำนวน 118 คน เป็นเมียนมา 94 คน ลาว 7 คน กัมพูชา 8 คน เวียดนาม 7 คน และอื่นๆ อีก 2 คน แบ่งเป็นดำเนินคดีในข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานจำนวน 58 คน แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 60 คน

โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ

ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้ใดพบคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือโทร. 0 2354 1729 หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป