เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อเวลา 21.50 น. ของวันที่ 22 ก.ค.61 แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ระบุว่า ขณะนี้ พายุเซินติญ ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนอีกครั้ง และวกกลับเข้าเวียดนามตอนบน อาจส่งผลกระทบกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนบนของไทย

นอกจากนี้ วาฟ-รอม ยังตรวจสอบพบ การเกิดพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกพร้อมกัน ถึง 5 ลูก ที่คุ้นเคยคือ พายุอ๊อมปึล (Ampil) , พายุเซินติญ (Son-Tinh) และอีก 3 ลูกคือ THIRTEEN , FOURTEEN และFIFTEEN ซึ่งขณะนี้ มีเพียงพายุเซินติญ ที่ยังไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย

มีรายงานว่า พายุเซินติญได้พัดขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของฮานอย ตั้งแต่คืนวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม มีผู้เสียชีวิตแล้ว 20 คน สูญหาย 16 คน และบาดเจ็บอีก 14 คน บ้านเรือนกว่า 5,000 หลังต้องพังเสียหาย และบางส่วนจมอยู่ใต้บาดาล พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายกว่า 500,000 ไร่

ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 4 วันที่ 23 ก.ค. 2561 มีคำเตือนเรื่อง “พายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวตังเกี๋ย” ซึ่งพายุลูกนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันออกด้วยความเร็ว 12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2561 โดยจะส่งผลกระทบ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง วันนี้กทม. และปริมณฑล มีฝนตกประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่

สำหรับการตั้งชื่อพายุ เป็นการช่วยให้เจ้าหน้าที่ติดตามมันได้สะดวก เหมือนเดือนตุลาคม ปี 2555 ที่มีพายุเข้าถล่มเวียดนาม พายุไต้ฝุ่นลูกนั้น ก็ถูกตั้งชื่อว่า พายุเซินติญมาแล้ว โดยชื่อของพายุ จะตั้งตามรายชื่อที่มีอยู่แล้วใช้วนตามลำดับอักษร โดยเป็นชื่อที่ได้รับการเสนอจากกลุ่มประเทศที่อยู่บนคาบสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้