เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

 วันที่ 23 เมษายน  นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ระยะนี้ประเทศไทย อยู่ในช่วงฤดูร้อน หลายพื้นที่มักเกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งมีลักษณะอากาศของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฟ้าผ่า ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับมือ และป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน ดังนี้ การเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ติดตามพยากรณ์อากาศ หากมีประกาศเตือนพายุฤดูร้อน ให้เตรียมพร้อมรับมือและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพแข็งแรง โดยเฉพาะประตู หน้าต่าง และหลังคาบ้าน รวมถึงใช้วัสดุก่อสร้างที่แข็งแรงทนทาน และติดตั้งสายล่อฟ้า จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด ป้องกันสิ่งของถูกพายุพัดเสียหายและได้รับอันตรายจากการถูกสิ่งของพัดกระแทก ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างบริเวณรอบบ้านให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น หากพบเสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาอยู่ในสภาพไม่แข็งแรง ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงแก้ไข ดูแลพืชผลทางการเกษตร โดยจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบังปกคลุมผลผลิตทางการเกษตร เพื่อป้องกันความเสียหายจากพายุลมแรง

การปฏิบัติตนขณะเกิดพายุฤดูร้อนกรณีอยู่ในอาคาร ไม่อยู่บริเวณดาดฟ้าหรือใกล้ระเบียง เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันแรงลมพัดสิ่งของเข้ามาในบ้าน ก่อให้เกิดอันตรายได้ ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่า ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายและผู้ใช้งานได้รับอันตราย ไม่อยู่บริเวณที่เสี่ยงต่อการแตกหัก อาทิ หลังคาสกายไลท์ หน้าต่างกระจก เพื่อป้องกันลูกเห็บตกใส่ ทำให้ได้รับอันตราย กรณีอยู่กลางแจ้ง อยู่ให้ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง อาทิ ต้นไม้ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า เพื่อป้องกันการถูกล้มทับ ไม่อยู่บริเวณพื้นที่โล่งแจ้ง อาทิ สระน้ำ สนามกอล์ฟ ทุ่งนา เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า อาทิ รางรถไฟ เพิงสังกะสี เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า หลีกเลี่ยงการพกพาและสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า อาทิ เงิน ทอง นาค ทองแดง และร่มที่มียอดเป็นโลหะ งดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เพราะแบตเตอรี่มีส่วนผสมของโลหะ จะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า กรณีอยู่ในรถ จอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย ห่างจากต้นไม้ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า และสิ่งปลูกสร้างที่เสี่ยงต่อการถูกล้มทับ ปิดประตูและกระจกให้สนิท เพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ไม่สัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าไหลผ่านตัวถังรถลงสู่พื้นดิน ทำให้ได้รับอันตราย ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมรับมือ และเรียนรู้การปฏิบัติตนเมื่อเกิดพายุฤดูร้อน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ทำให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดภัยเป็นไปด้วยความปลอดภัย