มนุษย์ติดไข้หวัดนก ‘H5N8’ ครั้งแรก
ไข้หวัดนกสายพันธ์ุ H5N8 ระบาดอย่างหนักในรัสเซีย, หลายประเทศในยุโรป, จีน, ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ แต่เป็นการระบาดในสัตว์ปีกเท่านั้น โดยมีเพียง 3 สายพันธ์ุที่เคยถูกพบว่าติดต่อสู่คน ได้แก่ H5N1, H7N9 และ H9N2 ล่าสุดรัสเซียพบเคสไวรัสหวัดนกสายพันธุ์ H5N8 ติดต่อจากสัตว์ปีกสู่มนุษย์เป็นเคสแรกของโลก และได้รายงานเรื่องดังกล่าวไปยังองค์การอนามัยโลก(WHO)เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการเปิดเผยของ แอนนา โปปาวา หัวหน้าสำนักงานเฝ้าระวังสุขภาพผู้บริโภค‘รอสปอเตรบนาดซอร์’ (Rospotrebnadzor) แห่งแดนหมีขาวเปิดเผยในวันเสาร์(20ก.พ.)
ปาโปวา เปิดเผยว่ารัสเซียรายงานเคสติดเชื้อในมนุษย์แก่องค์การอนามัยโลกเมื่อหลายวันก่อน “ไม่นานหลังจากเราแน่ใจกับผลตรวจของเราจริงๆ” เธอให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์รอสซิยา 24 สื่อมวลชนแห่งรัฐ แต่เน้นว่ายังไม่พบสัญญาณการแพร่เชื้อจากคนสู่คน
คนงาน 7 คนของโรงงานสัตว์ปีกแห่งหนึ่งในแถบภาคใต้ของรัสเซียติดเชื้อสายพันธุ์ H5N8 ตอนเกิดการระบาดในโรงงานเมื่อเดือนธันวาคม จากการเปิดเผยของปาโปวา พร้อมบอกต่อว่าตอนนี้บรรดาบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้องดีขึ้นแล้ว “สถานการณ์ไม่ลุกลามไปมากกว่านั้น” เธอระบุ
โปโปวาย้ำว่า “นี่เป็นการค้นพบที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์” และ “เวลาจะเป็นตัวบอกว่า ไวรัสชนิดนี้จะกลายพันธฺุ์ เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่”
องค์การอนามัยโลกสาขายุโรประบุในอีเมล ว่าพวกเขาได้รับแจ้งจากรัสเซียเกี่ยวกับเคสมนุษย์ติดเชื้อไวรัส H5N8 แล้ว ซึ่งมันเท่ากับเป็นการยืนยันว่า เป็นครั้งแรกของโลกที่มนุษย์ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้
“จากข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่าเคสติดเชื้อที่ได้รับรายงาน เป็นเหล่าคนงานที่สัมผัสกับสัตว์ปีก” อีเมลระบุ “พวกเขาติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ และยังไม่มีรายงานการแพร่เชื้อจากคนสู่คน เราอยู่ระหว่างพูดคุยกับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมและประเมินผลกระทบด้านสาธารณสุขจากเหตุการณ์นี้”
การติดเชื้อไข้หวัดนกของมนุษย์ ส่วนใหญ่แล้วสัมพันธุ์กับการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกตัวเป็นๆหรือตายแล้ว และอาหารปรุงสุกอย่างเหมาะสมถูกมองว่ามีความปลอดภัย
กระนั้นการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก บ่อยครั้งที่นำมาซึ่งการฆ่าหมู่สัตว์ปีกตามโรงงานต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่ระบาด และหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศผู้นำเข้าทั้งหลายกำหนดข้อจำกัดด้านการค้า
ด้วยเคสติดเชื้อส่วนใหญ่แพร่ระบาดจากบรรดาสัตว์ปีกที่ใช้ชีวิตอยู่ตามป่า ซึ่งอพยพถิ่นฐานตามฤดูกาล ดังนั้นบรรดาประเทศผู้ผลิตทั้งหลายจึงเลือกใช้แนวทางเลี้ยงสัตว์ปีกของพวกเขาไว้ในที่ร่ม หรือหาทางสกัดไม่ให้พวกมันไปสัมผัสกับสัตว์ป่า เพื่อป้องกันการติดเชื้อ