วันที่ 15 มี.ค. รอยเตอร์รายงานว่า ทางการสหรัฐอเมริกาประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรวีซ่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยเพื่อลงโทษไทยกรณีส่งกลุ่มชาวมุสลิมอุยกูร์ให้จีน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ายิ่งอาจส่งผลกระทบต่อไทยที่กำลังตกเป็นเป้าสงครามการค้าของผู้นำสหรัฐฯ
การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังนายมาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ประกาศจะลงโทษไทย หนึ่งในชาติพันธมิตรของสหรัฐ เรื่องการส่งชาวอุยกูร์ 40 คน ไปให้กับจีน ซึ่งสหรัฐมองว่า ชาวอุยกูร์ดังกล่าวอาจถูกทางการจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน
แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า สหรัฐมีความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับความพยายามของจีนในการกดดันรัฐบาลของนานาชาติให้ส่งตัวชาวอุยกูร์และบุคคลอื่นๆ กลับคืนให้จีน ซึ่งเมื่อกลับไปแล้วต้องเผชิญกับการทารุณกรรมและการบังคับให้สูญหาย
รายงานระบุว่า มาตรการลงโทษที่เกิดขึ้นล่าสุดน่าจะมีเป้าหมายเพื่อแสดงถึงความไม่ส่งเสริมให้ทางการไทยดำเนินการในลักษณะเช่นนี้อีก และมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวอาจรวมถึงสมาชิกครอบครัวของบุคคลที่ถูกลงโทษด้วย
แม้สหรัฐจะเคยใช้บทลงโทษไทยในอดีตมาแล้วหลายครั้ง อาทิ การระงับความช่วยเหลือทางการทหารหลังกองทัพไทยก่อรัฐประหาร การพุ่งเป้าลงโทษเป็นรายบุคคลและนิติบุคคลที่ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่อชาติอื่นๆ
ทว่า ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ว่าอาจเป็นครั้งแรกที่ไทยเผชิญมาตรการเช่นนี้ เพราะนึกครั้งสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยถูกลงโทษด้วยมาตรการระงับวีซ่าไม่ออก อย่างไรก็ดี นายรูบิโอ ไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลที่จะถูกลงโทษว่าเป็นใครบ้าง
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐเกิดขึ้นหลังสมาชิกรัฐสภายุโรปของสหภาพยุโรป หรืออียู รับรองญัตติประณามไทยเรื่องการส่งชาวอุยกูร์ไปยังจีน และเรียกร้องให้ไทยยุติการบังคับเนรเทศบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต (482 เสียง ต่อ 57 เสียง งดออกเสียง 68 คน) เมื่อ 14 มี.ค.
กรณีไทยส่งกลุ่มชาวอุยกูร์ 40 คน ที่ถูกคุมขังมานาน 10 ปี ให้กับจีน ท่ามกลางเสียงท้วงติงจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ว่าชาวอุยกูร์เหล่านี้เสี่ยงจะต้องเผชิญกับการถูกทารุณกรรมและการปฏิบัติที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บป่วยที่ไม่สามารถเยียวยาได้
นอกจากนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ยังเคยเปิดเผยรายงานเอ็กซ์คลูซีฟเมื่อต้นเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ว่าทางการสหรัฐและแคนาดาเคยเสนอให้ที่ลี้ภัยแก่ชาวอุยกูร์ 48 คน แต่ทางการไทยหวาดเกรงว่าจะทำให้ทางการจีนไม่พอใจ
“ผมจะดำเนินการตามขั้นตอนมาตรการลงโทษด้วยการงดการตรวจลงตราหนังสือเดินทางให้กับทั้งอดีตเจ้าหน้าที่และผู้ที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในรัฐบาลไทยซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการบังคับส่งตัวชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คน เมื่อ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา”
“และต่อกรณีที่จีนมีการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ในลักษณะการล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเสมอมา ผมขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลของนานาชาติไม่ให้บีบบังคับส่งตัวชาวอุยกูร์และกลุ่มบุคคลอื่นใดคืนให้จีน” นายรูบิโอ กล่าว
ขณะที่ทางการไทยเคยชี้แจงแล้วว่า การส่งตัวชาวอุยกูร์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการปฏิบัติบนพื้นฐานของกฎหมายและพันธะกรณีของไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
นายเมอร์เรย์ เฮอเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติที่กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ตนนึกครั้งสุดท้ายที่ไทยเผชิญกับมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่ออก
นายเฮอเบิร์ต กล่าวว่า ไทยเป็นชาติที่มีความอ่อนไหวต่อข้อวิพากษ์วิจาร์สูง ทว่า ท่าทีโต้ตอบใดๆ จากทางการไทยอาจยิ่งทำให้ไทยเสี่ยงต่อการถูกดำเนินการโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ในเรื่องกำแพงภาษีสินค้า เนื่องจากไทยเป็นชาติที่ได้ดุลการค้าสหรัฐสูงมาก
“ไทยน่าจะควรต้องเงียบๆ ไปก่อนครับ เพราะว่าเป็นชาติที่ได้ดุลการค้าสหรัฐมากอันดับที่ 11 เรียกว่าโดนปูนป้ายหน้าผากรอไว้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่แน่ว่าจะรอดมั้ย ต้องรอดูเดือนเม.ย.นี้ ที่ทรัมป์จะประกาศมาตรการกำแพงภาษีตอบโต้” เฮอเบิร์ต ระบุ
ด้านนักวิเคราะห์อื่น มองว่า ทางการสหรัฐพยายามหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรุนแรงใดๆ ต่อทางการไทยในอดีต เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ไทยในฐานะชาติพันธมิตรที่ยาวนานของสหรัฐ ถูกผลักไปใกล้ชิดจีนมากขึ้น
ส่วนกลุ่มนักรณรงค์เพื่อชาวอุยกูร์ที่กรุงวอชิงตัน เผยแพร่แถลงการณ์ถึงท่าทีของนายรูบิโอ ว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปสู่บรรดาผู้ที่สมยอมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่าจะต้องเผชิญกับผลที่ตามมาต่ออาชญากรรมที่ตัวเองก่อไว้
ทั้งนี้ นายรูบิโอ เป็นหนึ่งในนักการเมืองอเมริกันที่มีจุดยืนปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์มาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก และเคยกล่าวย้ำถึงการปฏิบัติของจีนต่อชาวอุยกูร์ ว่าเข้าข่ายการล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เมื่อสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ใกล้หมดวาระแรก
ทางการจีนเคยปฏิเสธข้อครหาของสหรัฐและชาติตะวันตกหลายครั้งต่อกรณีการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ โดยระบุถึงค่ายที่ตั้งขึ้นว่าเป็นค่ายฝึกอบรม เพื่อแก้ปัญหาก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน และแนวคิดสุดโต่งทางศาสนา