กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักอนุรักษ์ทั่วโลก หลังจากที่ นายจำลอง แหลมทองไทย ผู้ต้องหาชาวไทยที่ถูกตัดสินโทษจำคุก 40 ปี ที่แอฟริกาใต้ จากการอยู่เบื้องหลังกระบวนการล่าและค้านอแรดในตลาดมืด และเพิ่งถูกปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำ พร้อมส่งตัวกลับประเทศไทย ทั้งที่เพิ่งรับโทษได้เพียง 6 ปีเท่านั้น โดยสำนักงานทัณฑสถานของแอฟริกาใต้ ระบุว่า นายจำลองนี้มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้รับปล่อยตัวมีการทัณฑ์บน หลังได้รับลดหย่อนโทษในชั้นอุทธรณ์ 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2557
ล่าสุด วันที่ 24 ก.ย.61 เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ส โดย ราเชล นูเวอร์ ก็ได้เผยแพร่บทความว่าด้วยเรื่องราวของกระบวนการล่านอแรดอย่างผิดกฎหมาย พร้อมเผยข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายจำลองขณะที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำที่แอฟริกาใต้ด้วย
โดยในบทความดังกล่าว ระบุว่า กลุ่มอาชญากรจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เริ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายของแอฟริกาใต้ เข้ามาทำการล่าสัตว์ เพื่อส่งไปขายในตลาดมืด ตั้งแต่ปี 2546 โดยกลุ่มนักล่าสัตว์จากเวียดนามได้เดินทางมาทำการล่าสัตว์อย่างถูกต้องตามกฎหมายในแอฟริกาใต้ ก่อนที่จะขนย้ายนอแรด รวมถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ที่ล่าได้ ข้ามพรมแดนไปสู่บ้านเกิดของตัวเอง ในฐานะรางวัลจากการล่า ก่อนจะนำอวัยวะอันมีค่าเหล่านี้ส่งออกไปค้ากำไรในตลาดมืดในประเทศอื่นๆ ทั่วเอเชีย
แอฟริกาใต้กลายมาเป็นจุดหมายของขบวนการล่าสัตว์ป่าและขบวนการค้านอแรด มีนอแรดมากมายที่ถูกส่งออกมาสู่ตลาดมืดของเอเชีย ทั้งที่เป็นภูมิภาคที่ไม่มีการล่าแรดอย่างถูกกฎหมาย กระทั่งในที่สุดเมื่อปี 2555 นักสืบในแอฟริกาใต้ก็พบหลักฐานการกระทำผิดของ นายจำลอง แหลมทองไทย ชายไทย หนึ่งในตัวการสำคัญของขบวนการค้านอแรด โดยนายจำลองได้ว่าจ้างหญิงบริการชาวไทยกลุ่มหนึ่งให้ปลอมตัวเป็นนักล่าสัตว์ เดินทางไปร่วมล่าสัตว์โดยได้รับใบอนุญาตสำหรับเกมส์ล่าสัตว์เพื่อรางวัล หลังจากที่ให้นักล่ามืออาชีพยิงแรดตามจำนวนที่หญิงเหล่านั้นได้รับอนุญาต ก็ใช้เอกสารปลอมขนนอแรดกลับมาให้ นายวิชัย แก้วสะหว่าง เจ้าของบริษัทค้าขายสัตว์ป่าในลาว ในฐานะรางวัลจากการล่า
แต่สาเหตุที่ทำให้นายจำลองกลายมาเป็นผู้ต้องสงสัยของทางการ เกิดจากล่ามท้องถิ่นนาม จอห์นนี่ โอลิเวีย ที่รู้สึกผิดสังเกตเมื่อได้เห็นแรดถูกล่าไปจำนวนมาก จึงได้นำเรื่องไปแจ้งนับสืบ นำไปสู่การรวบรวมหลักฐาน กระทั่งสามารถจับกุมนายจำลองได้ และเขาก็ถูกศาลแอฟริกาใต้สั่งลงโทษจำคุก 40 ปี
มันเป็นบทลงโทษอย่างรุนแรงที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ถึงอย่างนั้นในที่สุดนายจำลองก็ได้รับการปล่อยตัวและเนรเทศกลับไทย ในวันที่ 21 ก.ย. 61 หลังรับโทษได้ 6 ปี
ในโอกาสนี้ ราเชล นูเวอร์ ยังได้เผยถึงบทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่ง จากการพูดคุยกับนายจำลองเมื่อเดือนตุลาคม 2559 โดยเมื่อขอให้นายจำลองเล่าเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการล่าแรด นายจำลองกลับบอกเพียงว่า เขาเป็นเพียงแพะรับบาปเท่านั้น
โดยนายจำลองให้สัมภาษณ์ว่า เขาเป็นเพียงนักธุรกิจที่ได้รับการติดต่อจ้างวานให้พากลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย ให้เข้ามาล่าสัตว์ที่แอฟริกาใต้เท่านั้น “ผมพานักท่องเที่ยวไปยิงสัตว์ ผมได้รับคอมมิชชั่นตอนแทน ผมไม่เคยล่าสัตว์ ผมทำถูกฎหมายมาตลอด”
นอกจากนี้นายจำลองยังอ้างว่า หลังจากถูกจับ ตำรวจแอฟริกาใต้ได้ให้เขาเซ็นเอกสารบางอย่าง ที่เขาคิดว่ามันเป็นคำยินยอมในการจ่ายค่าปรับ แต่หลังจากนั้นเขากลับถูกตำรวจจับเข้าคุกในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร
เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่นายจำลองพูด เหมือนเขาจะพยายามสื่อให้รู้ว่าเขาเป็นเพียงแพะรับบาปที่ถูกกลุ่มอาชญากรมหลอกมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ได้นอแรดกลับประเทศไปเท่านั้น โดยผู้ที่เป็นนายจ้างของนายจำลอง ก็คือ นายวิสัย แก้วสะหว่าง ชาวลาวซึ่งเป็นที่รู้จักในกระบวนการค้าสัตว์ป่า แต่ถึงอย่างนั้นนายวิสัยกลับปฏิเสธ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเรื่องนี้
ทั้งนี้นายจำลองย้ำว่า หลังจากที่เขาติดคุก เขาก็ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากนายวิสัยอีกเลย แม้แต่เพื่อน ครอบครัว และทางบริษัทที่เขาทำงานอยู่ ก็ไม่มีใครพูดกับเขาอีกเลย