เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ปัญหากระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มคนรักสัตว์ที่ชอบให้อาหารสุนัขจรจัดในที่สาธารณะกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ยังคงปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

บ้างมองว่าทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ปล่อยสุนัขขับถ่ายเรี่ยราด มีส่วนทำให้จำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้น จากโต้เถียงปะทะคารม เขียนป้ายด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรง ถึงขั้นลงมือทะเลาะวิวาทขึ้นโรงพัก

สิ่งที่หลายคนสงสัยหนีไม่พ้นคำถามว่า หากสุนัขจรจัดในที่สาธารณะเหล่านั้นไปสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ขับถ่ายเหม็นสกปรก เห่าเสียงดัง กระทั่งไปกัดคนอื่น ใครจะรับผิดชอบ?

กรุงเทพมหานคร (กทม.) เคยออกข้อบัญญัติว่า นิยามความเป็นเจ้าของให้รวมถึงผู้ที่ให้อาหารเป็นประจำด้วย ปรากฎว่าถูกศาลฎีกาสั่งให้ถอนออก เพราะมันจะครอบคลุมไปถึงคนที่ให้อาหารสัตว์อื่นๆ เช่น คนให้อาหารนกพิราบ ถือเป็นเจ้าของนกพิราบไหม แต่ขณะเดียวกัน ถ้าคุณไปเที่ยวบอกคนอื่นว่าหมาตัวนี้เป็นของฉัน ฉันดูแลอยู่ ใครอย่ามาแกล้ง หรือคุณไปสร้างคอกแล้วเอาสุนัขไปไว้ในนั้น แบบนี้ถือว่าคุณครอบครองเป็นเจ้าของ เพราะกฎหมายระบุผู้ครอบครอง ไม่ใช่ผู้ที่ให้อาหาร ตรงนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ที่ผ่านมาหลายชุมชนติดป้ายด่าเพราะตีความผิด หน่วยงานเองก็ไม่ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ เที่ยวให้ข้อมูลผิดๆ เพราะต้องการขู่คนรักสัตว์

ไม่มีใครมีสิทธิ์ไปห้ามคนอื่นไม่ให้อาหารหมา และคนให้อาหารหมาเองก็ไม่มีสิทธิ์ปล่อยให้มีขยะเกลื่อนกลาด สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ทางที่ดีคือ ขอให้คุยกันตรงๆเลย พี่ครับ ช่วยให้อาหารหมาเป็นระเบียบหน่อยได้ไหม คนรักสัตว์ก็ต้องฟัง ถ้าให้ไม่เป็นระบบ ก็ต้องแก้ไข ต้องทำตามกติกาสังคม เปลี่ยนจากด่าทอกัน มาปรึกษาหารือกันว่าจะทำยังไงดีกว่ามาด่า หรือติดป้ายประชดประชันกัน แบบนี้มันไม่จบ

ถ้ามีปัญหากับสุนัขจรจัด ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ควรเรียกเทศบาลหรือเขตให้มาจัดการ เช่น สุนัขมาขี้เยี่ยวหน้าบ้านเป็นประจำ ก็โทรแจ้งเจ้าหน้าที่จะมาดูว่าเป็นปัญหาไหม ผิดกฎหมายสาธารณสุขไหม เป็นหน้าที่ของเขาในการเข้าดูแลจัดการ แต่ถ้าเป็นสุนัขมีเจ้าของ เช่น ตอนเช้าชอบปล่อยหมาหรือจูงหมาไปขี้เยี่ยวนอกบ้านแล้วไม่ยอมเก็บกวาด ก็ถ่ายรูปส่งให้เทศบาลหรือเขต เดี๋ยวนี้หลายบ้านมีกล้องวงจรปิด ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ่ายภาพไว้เลยว่าคนๆนี้จูงหมามาขี้เยี่ยวหน้าบ้านฉัน หรือเห็นใครเอาหมามาปล่อยทิ้งก็จะโดนมาตรา 23 พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ส่งหลักฐานให้ตำรวจ หรือกรมปศุสัตว์ ปรับสูงสุด 4 หมื่นบาท