เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

กรมสรรพสามิตประกาศขึ้นภาษียาเส้นครั้งแรกในรอบ 40 ปี คาดจัดเก็บภาษีได้เพิ่มปีละ 2,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ยาเส้น จาก 0.005% ต่อกรัม เป็น 0.1% ต่อกรัม มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.2562 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาขายปลีกยาเส้น มีการปรับขึ้นทันที โดยยาเส้นขนาดบรรจุ 20-30 กรัม ต่อซอง เพิ่มขึ้นจาก 10 บาทเป็น 13 บาท โดยยาเส้นซองเล็กขนาดบรรจุ 5 บาท ขนาดไม่ถึง 10 กรัม เพิ่มขึ้น 2 บาท เป็น 7 บาท ซึ่งเดิมกรมเก็บภาษีที่ขนาด 10 กรัม เดิมเสีย 5 สตางค์ เพิ่มเป็น 1 บาท

ทั้งนี้ การปรับขึ้นภาษีจะทำให้กรมมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 130 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการบริโภคยาเส้นมีการปรับเพิ่มขึ้นมาก จากเดิมในปี 2559 อยู่ที่ 12 ล้านกิโลกรัม เป็น 26 ล้านกิโลกรัม ในปี 2560

ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ที่เริ่มมีผลในช่วง ก.ย.2560 ทำให้คนหันมาสูบยาเส้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากบุหรี่ซองมีการปรับราคาเพิ่ม ทำให้กรมต้องปรับขึ้นภาษียาเส้นเพิ่มเพื่อลดช่องว่างราคาขายปลีกบุหรี่กับยาเส้นจากเดิม 300 เท่าเหลือ 17 เท่า เพราะไม่ต้องการส่งเสริมให้คนบริโภคในสิ่งที่เป็นอันตราย

นอกจากนี้ที่ประชุมครม.ยังเห็นชอบให้เลื่อนเวลาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ราคาไม่เกิน 60 บาท ที่จะเพิ่มจาก 20% เป็น 40% ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะมีการปรับขึ้นภาษีเป็น 40% ในวันที่ 1 ต.ค.62 เปลี่ยนเป็น 1 ต.ค.63 เพื่อต้องการลดผลกระทบและแก้ปัญหาขาดทุนในอุตสาหกรรมยาสูบ ที่สำคัญหากปรับขึ้นภาษีไปจะทำให้ราคาบุหรี่ในท้องตลาดที่ราคาซอง 60 บาท ปรับขึ้นไปเป็นซองละเกือบหนึ่งร้อยบาท

ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากหันมาบริโภคยาเส้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญยังเป็นปัญหาด้านสุขภาพ เพราะยาเส้นไม่มีการกรองเหมือนกับบุหรี่ โดย ครม.เห็นชอบแต่ไม่มีการแถลงเรื่องนี้ เพราะถือเป็นความลับจนอาจเกิดปัญหาการกักตุนตามมาได้ โดยมอบหมายให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้แถลงวันที่ 8พ.ค.62 กรมสรรพสามิตแทน