ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ในการสัมมนา หัวข้อคุมประพฤติ “ดื่ม-ขับ” กับการจัดการที่ยั่งยืน โดยมี นายพยนต์ สินธุนาวา รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมสัมมนา นายพยนต์ กล่าวว่า การคุมประพฤติเป็นปลายน้ำของการกระบวนการทางกฎหมายของคนที่ถูกจับข้อหาเมาแล้วขับ ซึ่งปัจจุบันมีคนเมาที่ถูกจับคุมประพฤติปีละประมาณ 40,000 รายทั่วประเทศ แต่ยังพบว่ามีประมาณ 1–2 เปอร์เซนต์ที่ยังมีพฤติกรรมเมาแล้วขับถูกจับซ้ำอีก
ซึ่งที่ผ่านมาการคุมประพฤติมีทั้งการทำงานบริการสังคม ช่วยผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาล เข้าห้องดับจิต รวมทั้งช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ พิการจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการให้คนทำผิดได้พบเห็นและพูดคุยกับเหยื่อเมา ให้เห็นสภาพของคนเจ็บคนตายจากอุบัติเหตุ ซึ่งตนคิดว่าเป็นการสร้างความตระหนักที่เข้าถึงจิตใจเพราะโดยพื้นฐานแล้วทุกคนก็ย่อมสำนึกถูกผิดดีชั่ว แต่ก็ยังพบว่ามีคนทำผิดซ้ำ ซึ่งตัวเลขของปี 59-60 นั้นมีจำนวน 2,160 รายซึ่งแม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยมากแต่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมาดูว่าจะแก้ไขอย่างไรให้การคุมประพฤติสร้างความตระหนักรู้ให้มากขึ้น ซึ่งกรมฯจะพิจารณาโปรแกรมให้มีความเข้มงวดมากขึ้นตามลำดับและความรุนแรงของคนที่ทำผิดซ้ำๆ รวมไปถึงการคิดค่าธรรมเนียมกับผู้ที่ถูกคุมประพฤติจะต้องมีการชำระค่าเข้าคุมประพฤติ เช่นเดียวกับที่ในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันในการคุมประพฤติผู้ถูกคุมประพฤติไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามักได้ยินว่าคนที่เมาแล้วขับถูกจับคุมประพฤติต้องไปช่วยงานห้องเก็บศพ ซึ่งพบว่าในต่างประเทศมีความเข้มงวดกับคนที่เมาแล้วขับมีโทษสูงมาก นอกจากปรับในอัตราที่สูงแล้ว ยังต้องถูกควบคุมและจำกัดสิทธิบางอย่างไม่ได้มีอิสระเหมือนคนทั่วไป เช่น ในอังกฤษต้องจ่ายค่าคุมประพฤติสูงถึง 5,600 ปอนด์ หรือเป็นเงินกว่า 2 แสนบาท ซึ่งต่างจากไทยที่การคุมประพฤตินั้นใช้เงินภาษีของประชาชน หรือในกรณีของประเทศสิงคโปร์การคุมประพฤติ ยิ่งถ้าทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกก็จะเข้มขึ้นไปจนถึงระดับใกล้เคียงการจำคุก หรือในบางรัฐของอเมริกาหากโดนโทษเมาแล้วขับจะต้องซื้อเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ติดไว้ในรถไปตลอดการคุมประพฤติ ขับไปที่ไหนเจ้าหน้าที่เรียกให้ตรวจวัดได้ เป็นต้น
การคุมประพฤติจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้คนที่ทำผิดถูกจำกัดสิทธิ เพื่อให้เรียนรู้ถึงการที่ตนเองทำผิดกฎหมาย ต้องทำให้การคุมประพฤติเป็นการบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่งานบริการ ซึ่งบ้านเราต้องปรับเปลี่ยนให้มีวิธีการที่ดีขึ้น จะต้องเกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายต่างๆซึ่งขณะนี้มีคณะอนุกรรมการทางด้านกฎหมายที่จะมาช่วยได้ดูแลในเรื่องนี้เพื่อผลักได้ให้เกิดผลต่อไป.
ที่มา – Dailynews