เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ร่างกายของคนเราจะเริ่มเสื่อมถอยลงก็ต่อเมื่อย่างเข้าสู่วัยเกษียณ ฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุด คือการดูแลสุขภาพกายและใจอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งโรคหนึ่งที่น่าเป็นห่วง “ต้อกระจก” เพราะเป็นปัญหาทางสายตาที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ หากละเลยปล่อยทิ้งไว้อาจ “ตาบอด” ได้!!

จากการสำรวจพบว่า…42% ของ “ผู้มีภาวะตาบอด” มีสาเหตุมาจาต้อกระจก!!

พ.ต.อ.นพ.คำนูณ อธิภาส จักษุแพทย์ ให้ความรู้ว่า “โรคต้อกระจก” มักมาพร้อมกับอายุมากที่ขึ้น นับเป็นความเสื่อมอย่างหนึ่งเกี่ยวกับร่างกายที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงของ “เลนส์แก้วตา” ที่ช่วยในการมองเห็น จะมีลักษณะตัวเลนส์ที่นิ่มมากเมื่ออยู่ในวัยเด็ก แต่เมื่อเริ่มมีอายุที่มากขึ้น เลนส์แก้วตาจะค่อยๆ แข็งขึ้น เกิดความไม่สม่ำเสมอ จนเกิดความขุ่นมัวในเนื้อเลนส์ และส่งผลต่อการมองเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ได้ เช่น ผลข้างเคียงจากการใช้ยา สารสเตียรอยด์ สารพิษ ประสบอุบัติเหตุ และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาทิ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และไทรอยด์

โรคต้อกระจก” จะค่อยๆ เกิดขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงของ “เลนส์ตา” จนกระทั่งตาขุ่นมัว จึงอาจทำให้คนทั่วไปละเลยอาการเริ่มต้น “โรคต้อกระจก” ที่สามารถส่งผลร้ายต่อการมองเห็น ฉะนั้นผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงควรรู้จักสังเกตตนเองรวมถึงบุคคลใกล้ตัวถึงอาการ 5 สัญญาณเสี่ยง “ต้อกระจก” ได้แก่…

1.ตาค่อยๆ มัวลง อย่างช้าๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ อาจเริ่มมีอาการที่มัวลงภายในช่วงเวลาสั้นเพียง 2-3 เดือน หรือถึงมากกว่า 10 ปีในบางราย
2.สายตากลับ คือมีอาการเปลี่ยนแปลงด้านการมองเห็นอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น จากเดิมสายตายาวแล้วเปลี่ยนเป็นสายตาสั้น หรือมีสายตาเอียงมากขึ้น
3. เห็นแสงแตกกระจาย เมื่อใช้สายตามองแสงแล้วจะเห็นมีลักษณะเป็นเส้นๆ เป็นแฉกๆ หรืออาจดูมีภาพซ้อน
4.ความสามารถในการมองเห็นในที่มืดลดน้อยลง ต้องการแสงสว่างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะพบบ่อยๆ ในกลุ่มคนสูงวัยมากๆ
5.ต้อกระจกบางชนิดจะมองเห็นในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง เนื่องจากมีความขุ่นมัวเฉพาะส่วนกลางของเลนส์ตา ซึ่งในที่สว่างนั้น “รูม่านตา” จะมีขนาดเล็ก เวลาใช้สายตาก็จะมองผ่านเฉพาะส่วนที่ขุ่นมัวนั้น แต่ในที่มืดรูม่านตาจะขยายกว้างขึ้นการมองเห็นก็จะดีขึ้น มักพบในคนที่ป่วยเป็น “โรคต้อกระจก” จากผลกระทบของโรคเบาหวาน ใช้ยาสเตียรอยด์ด้วยการรับประทาน หรือหยอดตามาเป็นเวลานานๆ

หากมีอาการน่าสงสัยเพียง 1 ใน 5 ข้อนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็ค “ดวงตา” อย่างละเอียด และรับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ปัจจุบันเราสามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งการสวมแว่นตา การใช้ยาหยอดตาในกรณีที่ยังไม่มีอาการรุนแรงมาก รวมไปถึงการผ่าตัดเปลี่ยน “เลนส์แก้วตา” ที่ทำได้ง่ายมากขึ้น

เช่น การสลายต้อกระจกด้วยระบบอัลตร้าซาวด์ ที่ช่วยทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2-3 มิลลิเมตร ผู้ป่วยจึงไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน แผลสามารถสมานตัวเองได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างจากเดิมที่จะรักษาด้วยการผ่าตัดลอกต้อกระจก ทำให้มีแผลใหญ่และยาวเกือบ 1 เซนติเมตร จนส่งผลให้แผลหายได้ช้า หรือมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เฟมโตเซคเคินเลเซอร์ และนาโนเซคเคินเลเซอร์เข้ามาช่วยในการผ่าตัดร่วมด้วย

นอกเหนือจากการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว การเลือกใช้ “เลนส์แก้วตาเทียม” สำหรับการผ่าตัดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ป่วยควรให้ความสำคัญและมีความรู้เบื้องต้น เนื่องจากเลนส์แก้วตาเทียมมีหลากหลายชนิด ซึ่งผู้ป่วยสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่เหมาะกับปัญหาทางสายตาเดิมของตนเอง

เช่น หากมีสายตาสั้นมากๆ เมื่อมีการผ่าตัดจะสามารถเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดหลายโฟกัส ที่คำนวณค่าให้แสงตกโฟกัสให้ตรงจอประสาทตาพอดี จึงสามารถช่วยแก้อาการสายตาสั้นให้ดียิ่งขึ้นได้ หรือสายตาเอียงมากๆ ซึ่งมาจากผิวกระจกตาไม่กลม ก็สามารถผ่าตัดเลือกเลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถชดเชยและแก้สายตาเอียงได้

สุดท้ายนี้สำหรับ “ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป” ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคทางสายตาได้ง่าย จึงควรรับการตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือกลุ่มความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน และไทรอยด์ หรือใช้ยาสเตียรอยด์บ่อยครั้ง อาจต้องได้รับการตรวจที่เร็วขึ้นไม่ต้องรอถึงอายุ 50 ปี

ที่มา – ชญานิษฐ คงเดชศักดา