นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุลชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าได้ติดตามสถานการณ์การช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 โดยเมื่อวันที่26 เมษายนที่ผ่านมาได้ไปตรวจติดตามการปฏิบัติงานของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ทราบว่าสปส.ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
ทั้งนี้ นายทศพลกฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสปส. รายงานว่าล่าสุดมี“ผู้ประกันตน” ได้รับเงินเยียวยาว่างงานไปแล้วจำนวนกว่า 121,000 ราย
โดยให้ประกันสังคมจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตนใน 2 กรณี คือ
- ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ผู้ประกันตนมาทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19
- ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของราชการ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง
นายดวงฤทธิ์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับเงิน มีสาเหตุมาจากอยู่ระหว่างรอหนังสือรับรองจากนายจ้าง ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) จึงแจ้งผู้ประกันตนเพื่อขอให้ติดตามนายจ้างยื่นหนังสือรับรองการหยุดงานให้สปส. และกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 จะไม่มีสิทธิได้รับเงินว่างงานจาก สปส. พร้อมทั้งได้รับฟังปัญหาและอุปสรรคในการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของ สปส.เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนอย่างทั่วถึง และรวดเร็วขึ้น
“จากการที่ได้ไปตรวจเยี่ยม สปส.ครั้งนี้ พบว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนดูแลและให้บริการอย่างครบถ้วนเต็มความสามารถ และในฐานะของผู้ที่ตรวจสอบการดำเนินงานขอความร่วมมือนายจ้างที่ให้ลูกจ้างหยุดงาน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง เร่งส่งเอกสารรับรองการหยุดงานให้แก่สำนักงานประกันสังคม ผ่านช่องทาง e-form บน www.sso.go.th เพื่อหน่วยงานจะได้เร่งดำเนินการให้เงินถึงมือลูกจ้าง ผู้ประกันตน โดยเร็ว” นายดวงฤทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ กรณีที่ลงทะเบียนแล้วไม่ได้รับเงินเยียวยาทดแทนจาก ประกันสังคม ในกรณีจากเหตุสุดวิสัย ต้องมีสถานะเป็นผู้ประกันตน ไม่ได้ถูกเลิกจ้าง หรือลาออก และต้องไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง จะได้เงินทดแทน 62% ซึ่งเมื่อวินิจฉัยไปแล้ว จากที่ยื่นเข้ามา 8 แสนราย นายจ้างรับรองไปแล้วราว 4 แสนราย ซึ่งที่เหลือจะมีขั้นตอนการติดตามนายจ้างเพื่อให้รับรองว่าเป็นลูกจ้างจริง และมีการหยุดงานเมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่
ดังนั้น ที่เหลืออีก 4 แสนราย ยังมีสิทธิ์เพียงแต่นายจ้างยังไม่ได้ยื่นรับรองมา สำหรับ ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิสามารถยื่นอุทธรณ์กับ ประกันสังคม ได้ภายใน 30 วัน