เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

“รสนา” เปิดเอกสาร กมธ.สนช.ชี้ชัด “ธานี” นำทีมปั้นรายงานลดความเร็วรถ “บอส อยู่วิทยา” เพื่อขอความเป็นธรรม แต่ถูกอัยการสูงสุด 2 คนก่อนสั่งยุติทั้งหมด จน อสส.คนปัจจุบันเข้ามา มี “ไอ่โม่ง” นำรายงาน กมธ.สนช.มาปัดฝุ่นยื่นขอความเป็นธรรมอีกครั้ง นำไปสู่การใช้ “ดุลพินิจใหม่” จากหลักฐานเก่าที่เคยถูกตีตกไปแล้ว พลิกคดีเป็นสั่งไม่ฟ้อง เป็นกระบวนการสมคบคิดเพื่อตัดตอนไม่ให้ผู้ต้องหามีคดีติดตัว ด้วยอำนาจเงินและคอนเนกชันหรือไม่

ภายหลังจาก น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ยื่นหนังสือขอเอกสารกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตํารวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมในคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ล่าสุด วันนี้ (15 ส.ค.) น.ส.รสนา ได้โพสต์ภาพเอกสารกรรมาธิการ สนช.ดังกล่าว พร้อมแสดงความเห็นทางเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ว่า “คดี วรยุทธ อยู่วิทยา คือ กระบวนการสมคบคิดตัดตอนคดี ใช่หรือไม่

“เอกสารรายงานบันทึกการประชุม และหนังสือนำส่งอัยการของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติ (กมธ.สนช.) กรณีข้อร้องเรียนขอความเป็นธรรมในคดีของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่ดิฉันได้รับจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ประกอบด้วย รายละเอียดการประชุมของคณะกรรมาธิการที่พิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมจากทนายของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา และหนังสือนำส่งรายงานไปถึงอัยการสูงสุด และ อธิบดีอัยการ สำนักคดีอาญากรุงเทพใต้
สาระหลักในรายงานพิจารณาศึกษาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ของ กมธ.สนช.อยู่ที่การนำเสนอเรื่องความเร็วรถที่นายวรยุทธขับชน ดาบตำรวจ วิเชียร กลั่นประเสริฐ ถึงแก่ความตายว่าเป็นการขับในความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. จึงไม่ใช่การขับรถโดยประมาทที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้ตายขับรถสวนเลนเข้ามากะทันหัน พร้อมพยานบุคคลที่มายืนยันเรื่องความเร็วรถ ตามที่ปรากฏเป็นข่าว 

หลังจากที่ กมธ.สนช.ประชุม และตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา เรื่อง ร้องขอความเป็นธรรมกรณีการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมี นายธานี อ่อนละเอียด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน การทำรายงานของ นายธานี อ่อนละเอียด คือ การแสดงหลักฐานว่าความเร็วรถที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับไม่เกินกฎหมายกำหนด และมีพยานบุคคล ทั้งนักวิชาการอย่าง ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม มาคำนวณความเร็วรถและพยานบุคคลอีก 2 คน ที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์ที่นายวรยุทธ ขับรถ 50-60 กม./ชม.

หลังจากทำรายงานเสร็จประธานคณะกรรมาธิการ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ได้ลงนามหนังสือนำส่งพร้อมรายงานไปถึงอัยการสูงสุด และ อธิบดีอัยการสำนักคดีอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งมีหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด และอธิบดีอัยการฯ 2 ครั้ง

1) ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2559 ในหนังสือนำส่งอัยการสูงสุด และอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ พร้อมรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องความเร็วของรถนายวรยุทธ อยู่วิทยา

2) ครั้งที่ 2 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 หนังสือทวงถามผลการพิจารณาจากอัยการสูงสุด และ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เกี่ยวกับผลของคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา

3) ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ได้ตอบคณะกรรมาธิการ ว่า กรณีขอให้สอบสวนรองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ได้มีการสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว และได้เสนอเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องให้อัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม

4) ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตอบคณะกรรมาธิการ สนช.โดยสรุปว่า อัยการสูงสุด (ร.ต.ต พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร) ได้พิจารณาความเห็นของรองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม เห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่ยังไม่เคยพิจารณามาก่อน ส่วนหลักฐานอื่นได้พิจารณายุติไปแล้ว และเห็นว่าความเห็นของ ดร.สายประสิทธิ์ ไม่ใช่ประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ และความเห็นของพยานเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของพยานเท่านั้น ซึ่งจะรับฟังได้ต่อเมื่อสอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่น โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในขณะเกิดเหตุ และเมื่อพิจารณาจากสภาพรถยนต์ของผู้ต้องหาที่ 1 ขับหลังเกิดเหตุมีร่องรอยความเสียหายภายนอกด้านหน้าตัวถังและอุปกรณ์ภายในห้องเครื่อง เช่น หม้อน้ำระบายความร้อนของรถยนต์ ท่อยาง กระปุกน้ำมันเพาเวอร์แตกฉีกขาด ถุงลมนิรภัยทั้ง2ข้างที่อยู่ด้านหน้าทำงานจากแรงกระแทก…พบเศษผมผู้ต้องหาที่ 2 ติดกับกระจกบังลมหน้าของรถยนต์ทางซ้ายที่ถูกกระแทกยุบเข้าไปในตัวรถและเครื่องหมายบนเครื่องแต่งกายผู้ต้องหาที่ 2 ตกอยู่ในช่องปัดน้ำฝน แสดงว่า ร่างกายผู้ต้องหาที่ 2 กระเด็นไปกระแทกเข้ากับกระจกบังลมของรถยนต์จนเสียหาย และตกลงไปที่พื้นห่างจากจุดชนประมาณ 64.8 เมตร ส่วนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่2ขับขี่ครูดไถลไปตามพื้นถนนไปหยุดที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 ห่างจากจุดชนประมาณ 164.45 เมตร และยังมีพยานปากนายมีทุยหรือหม่องให้การยืนยันว่าได้ยินเสียงดังคล้ายรถชน..มีเสียงรถถูกลากไปกับพื้นถนนต่อเนื่องยาว มองไปเห็นรถเก๋งคล้ายรถแข่งชนจักรยานยนต์ที่ล้มติดอยู่กับกันชนหน้าลากไถลไปกับพื้นมีสะเก็ดไฟที่ถูไปกับพื้นถนนเป็นระยะจนถึงซอยสุขุมวิท 49 รถเก๋งเบรกกะทันหันจึงทำให้รถจักรยานยนต์กระเด็นหลุดออกจากกันชน พยานปากนี้ให้การในวันเกิดเหตุที่ 3 กันยายน 2555 หลังเกิดเหตุทันที จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของผู้ต้องหาที่1 ร้องขอความเป็นธรรมจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานที่ฟังว่าผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 แล้วอัยการสูงสุด (ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร) จึงมีคำสั่งเมื่อ 26 เมษายน 2560 ให้ยุติเรื่องขอความเป็นธรรม

แต่ทนายของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ยังขอความเป็นธรรมอีก โดยขอให้สอบสวนพยานเพิ่มเติม คือ นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกและกรรมาธิการ สนช.

แต่คำให้การของ นายธานี อ่อนละเอียดไม่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้

5) วันที่ 17 ตุลาคม 2561 (เป็นเอกสารชิ้นสุดท้ายในรายงาน กมธ.สนช.ที่ได้รับมา) สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบคณะกรรมาธิการว่า อัยการสูงสุดได้ตรวจสอบและพิจารณาแล้ว (น่าจะรวมถึงคำให้การของนายธานี อ่อนละเอียด) มีคำสั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรม เนื่องจากผลการสอบสวนเพิ่มเติมไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการได้ และได้แจ้งนายธนิต บัวเขียว ทนายความนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ร้องทราบแล้ว

จะกล่าวได้หรือไม่ ว่าการเปลี่ยนแปลงหลักฐาน เรื่องความเร็วรถในคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา เป็นกระบวนการสมคบคิด? เริ่มต้นจากรายงานพิจารณาศึกษาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนของนายวรยุทธ อยู่วิทยา เป็นการสร้างสตอรี่ใหม่ที่เปลี่ยนหลักฐานเรื่องความเร็วรถที่นายวรยุทธขับให้ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด โดยอาศัยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมาสร้างหลักฐานการคำนวณความเร็วรถ จาก 177 กม./ชม. เหลือ 79.23 กม./ชม. และอาศัยพยานบุคคล 2 คน มายืนยันซ้ำว่า นายวรยุทธ ขับรถด้วยความเร็วเพียง 50-60 กม./ชม. โดยไม่สนใจว่าหลักฐานสมจริงหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนข้อหาให้นายวรยุทธ อยู่วิทยาจากขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นขับรถด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด และการชนผู้อื่นตายเป็นเหตุสุดวิสัย โยนความผิดให้ผู้ตายว่าขับรถโดยประมาทเองจนเสียชีวิต ใช่หรือไม่

หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการใช้รายงานของ กมธ.สนช.ทำให้อัยการสูงสุด 2 คนก่อน สั่งไม่ฟ้อง ดังนั้น หลังจากหนังสือที่อัยการสูงสุดส่งถึงคณะกรรมาธิการ สนช.เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 แล้ว การร้องขอความเป็นธรรมในคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ก็เงียบหายไป 1 ปี เสมือนรอการเปลี่ยนตัวอัยการสูงสุดคนใหม่ ใช่หรือไม่

หลังจากมีการเปลี่ยนตัวอัยการสูงสุดมาเป็นคนปัจจุบัน เมื่อเดือนตุลาคม 2562 การหยิบยกคดีของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ก็กลับมาใหม่ แต่ข้อมูลส่วนนี้ไม่ปรากฏในเอกสาร กมธ. สนช.ที่ดิฉันได้รับมาว่าใครเป็นผู้นำรายงานของ กมธ.สนช. มาขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดคนใหม่อีกครั้ง ในปี 2562 !?

ใครคือผู้ยื่นรายงานของคณะกรรมาธิการ สนช.ซึ่งเป็นหลักฐานเก่าที่ถูกอัยการสูงสุด 2 คนก่อนหน้านี้ปัดตกไปหมดแล้ว มาขอความเป็นธรรมอีกครั้ง ต่ออัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ดังนั้นการ “สั่งไม่ฟ้อง” ครั้งนี้จึงไม่ใช่มีหลักฐานใหม่ แต่เป็นการใช้ “อำนาจ”ในนามของ “ดุลพินิจใหม่” จาก “หลักฐานเก่า” จนสามารถพลิกคดีเป็นการ “สั่งไม่ฟ้อง”

คงต้องขอให้อาจารย์วิชา มหาคุณ ช่วยหาว่าใครคือไอ้โม่งที่นำเอกสารเดิมของ กมธ.สนช.มายื่นใหม่จนคดีพลิก!?

“สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ พอจะเรียกได้หรือไม่ว่า เป็นกระบวนการสมคบคิด สร้างหลักฐานเพื่อตัดตอนคดี ไม่ให้ไปสู่ศาล ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหามีคดีติดตัว กลายเป็นคนบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยอำนาจเงิน และคอนเนกชัน ใช่หรือไม่”

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เมื่อ 31 ก.ค. 63 เพื่อเอกสารรกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตํารวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมในคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เมื่อ 31 ก.ค. 63 เพื่อเอกสารรกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตํารวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมในคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา

ที่มา – mgronline