เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

สาวร้อยเอ็ด เตรียมยื่นฟ้องเอาผิด “ปลัด สธ.” ปมทันตแพทย์ รพ.ดังที่นราธิวาส ลืมหัวกรอฟัน ไว้ในช่องปากนาน 5 ปี อ้างทำให้ร่างกายผิดปกติ ต้องเข้าออก รพ. เพื่อรักษา

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 17 ส.ค.2563 ที่คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. นางกฤติกา ฤทธิขันธ์ อายุ 34 ปี ชาว จ.ร้อยเอ็ด เดินทางเข้าพบแพทย์เจ้าของไข้ ตามการนัดหมายดูอาการทุก 6 เดือน ภายหลังได้รับการผ่าตัดเอาหัวกรอฟัน ที่แพทย์โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส ลืมไว้ภายในเหงือกนาน 5 ปี

นางกฤติกา เปิดเผยว่า ย้อนไปเมื่อปี 2558 แพทย์โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส ได้ทำการผ่าตัดรักษาอาการฟันคุด แล้วลืมหัวกรอฟันไว้ในเหงือก กระทั่งเมื่อปีที่แล้วแพทย์ทันตแพทย์ศาสตร์ มข. ได้ตรวจ และทำการผ่าตัดนำหัวกรอฟันออกมาได้ แต่ก็ต้องมีการนัดติดตามอาการทุกๆ 6 เดือน

โดยช่วงที่มีหัวกรอฟันในเหงือก ร่างกายก็มีอาการผิดปกติ โดยเฉพาะระบบเส้นประสาทนั้นใช้การไม่ได้ กินอาหารอะไรก็ไม่รู้รสชาติ ลิ้นชา ต้องเข้าพบแพทย์เฉพาะทางโดยตลอด มีการร้องเรียนไปแล้วหลายหน่วยงาน เรื่องก็เงียบ กระทั่งปี 2562 ได้ร้องเรียนไปยัง สคบ. ตามระบบอย่างถูกต้อง จนมีการสอบสวน และในที่สุดก็ไม่ได้รับการเยียวยาจาก สำนักงานสาธารณสุข จ.นราธิวาส โดยอ้างกฎระเบียบและวิธีการทางการแพทย์ แต่ทุกวันนี้ทนไม่ไหว เนื่องจากมีอารมณ์แปรปรวน ระบบประสาทเสียหาย ลิ้นชา ระบบรับรสก็ไม่มี เข้าออกโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ โดยตลอด ครอบครัวจึงได้หารือกัน ในการทวงสิทธิ์อันชอบธรรมที่ควรได้รับจากการกระทำที่ผิดพลาดของระบบสาธารณสุขเมืองไทยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นางกฤติกา กล่าวต่ออีกว่า ครอบครัวได้หารือกันและปรึกษาทนายความ ในการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเอาผิดกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่กำกับควบคุมบุคลากรในสังกัดของท่าน ตามข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิด เรียกค่า เสียหาย พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2526 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาผู้บริโภค พ.ศ.2551 โดยจะเข้ายื่นฟ้องต่อศาล จ.นนทบุรี ในวันที่ 27 ส.ค.2563 โดยครอบครัวมีความหวังและมั่นใจว่า ระบบกระบวนการยุติธรรมของไทยจะให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพราะทุกวันนี้ครอบครัวนั้นต่อสู้มาเพียงลำพังโดยตลอด แม้จะเป็นภรรยาของตำรวจ แต่ก็เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย จึงขอทวงสิทธิ์อันพึงที่จะได้รับและการชดเชยเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐาน