เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีที่เฟซบุ๊กออกแถลงการณ์จะฟ้องประเทศไทย ประเด็นบังคับให้เฟซบุ๊กปิดกั้นเพจไม่เหมาะสมตามคำสั่งศาล เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล นั้น กระทรวงฯ ยังไม่ทราบจดหมายอย่างเป็นทางการ มีเพียงแถลงการณ์ผ่านสื่อเท่านั้น ซึ่งกระทรวงฯ ต้องมีทีมกฎหมายเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวด้วย ว่าต้องขึ้นศาลที่ประเทศไทยหรือต่างประเทศ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่เคยรังแกใคร ทุกขั้นตอนดำเนินการกฎหมายที่ถูกต้องทุกประการ เป็นการปกป้องอธิปไตย และเมื่อกระทรวงแจ้งให้ลบพร้อมแนบคำสั่งศาล ทุกแพลทฟอร์มให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งกูเกิ้ล ยูทูป และติ๊กต็อก

นอกจากนี้ ตัวเฟซบุ๊คเอง ตามที่กระทรวงดีอีเอสแจ้งให้ปิดกั้นยูอาร์แอลที่ทำผิดตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.2563 จำนวน 1,129 ยูอาร์แอล ตามคำสั่งศาล 33 ให้ปิดภายใน 15 วัน โดยเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2563 เฟซบุ๊คได้ดำเนินการปิดกั้นครบแล้ว เวลาประมาณเกือบ 23.00 น. จึงเชื่อว่า ไม่น่าจะมีการฟ้องร้องประเทศไทย ส่วนการจะถอนการลงทุนในประเทศไทยหรือไม่นั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องปกติของนักลงทุนต่างชาติที่จะลงทุนในประเทศไหน จึงมองว่าเป็นคนละเรื่องกัน การที่ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด น่าจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนมากกว่า หากกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ มีผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนมากกว่า ยืนยันว่าไม่กระทบต่อการเจรจาเรื่องธุรกิจหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เคยมีต่อกันแต่อย่างใด ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนทุกด้านเรื่องการลงทุน

“ประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น มองว่าเรื่องการบูลลี่ หรือ นำทัวร์ลงในเพจของคนที่มีความคิดเห็นต่างมากกว่าที่น่าเป็นห่วง ส่งผลกระทบให้ตัวบุคคลที่ถูกกลั่นแกล้งถูกไล่ออกจากงาน หรือ กระทบกระเทือนจิตใจ ควรถูกดำเนินการตามกฎหมาย ผู้ถูกกระทำสามารถแจ้งความตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ได้ มาตรา 27 ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละ 5,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งหมายความว่าแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์รายใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้ลบหรือปิดเนื้อหาผิดกฎหมาย จะมีทั้งโทษปรับและปรับรายวันอีก จนกว่าจะยอมแก้ไข”

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงฯ จะยังคงดำเนินการส่งหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาลอีก จำนวน 1,024 ยูอาร์แอล ไปยังสื่อสังคมออนไลน์/เว็บไซต์ต่างๆ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 661  ยูอาร์แอล,  ยูทูบ 289 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์  69 ยูอาร์แอล และเว็บอื่นๆ  จำนวน  5 ยูอาร์แอล โดยให้ความมั่นใจว่า มีการติดตามให้ทุกแพลตฟอร์มต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล