เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ที่รัฐสภา นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ท่อน้ำเดรน ซึ่งเป็นท่อระบายน้ำภายในห้องเซิร์ฟเวอร์ระบบกล้องวงจรปิด ภายในอาคารรัฐสภาฝั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เกิดรูรั่วจนทำให้น้ำท่วมเจิ่งนองไปทั่วบริเวณห้องโถงภายในอาคารภายหลังเกิดฝนตกหนัก ว่า จากการสอบถามช่างผู้รับเหมาได้รับแจ้งว่ามีท่อแตกบริเวณข้องอ จึงทำให้น้ำฝนรั่วลงมา ซึ่งสาเหตุที่ท่อแตกเนื่องจากมีเศษหิน เศษอิฐ เศษปูน จากชั้น 7 ที่ไหลลงมากับน้ำตกลงมาจนถึงช่วงข้องอ ทำให้ข้องอแตก ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลรวมกันจำนวนมากตั้งแต่ช่วงเวลา 03.00-05.00 น.ของวันที่ 1 กันยายน 2563 ซึ่งเกิดจากฝนตกหนัก ไหลลงมาภายในอาคารเจิ่งนองเข้าไปในลิฟท์และบริเวณพื้น

ทั้งนี้ ได้สั่งให้ช่างให้เช็ดทำความสะอาดและแก้ปัญหาด้วยการนำถุงทรายไปปิดช่องระบายน้ำบริเวณชั้น 7 ซึ่งขณะนี้ไม่มีน้ำไหลลงมาแล้ว โดยเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว ซึ่งหลังจากนี้ได้ให้ผู้อำนวยการสำนักรักษาความปลอดภัยจัดทำรายงานเรื่องดังกล่าวส่งให้ตนเองโดยด่วน เพื่อจะได้ตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทางบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างเข้ามาดำเนินการซ่อมแซม

เมื่อถามว่าเบื้องต้นมีอะไรได้รับความเสียหายหรือไม่ นายสรศักดิ์ กล่าวว่า มีเสียงบ่นว่าเหตุใดอาคารรัฐสภามีความไม่พร้อมนั้น ต้องบอกว่าสาเหตุจริงๆเราไม่ได้ปล่อยปละละเลย ซึ่งอาคารใหม่ทุกแห่งเมื่อสร้างเสร็จต้องทำการทดสอบอาคารก่อนเข้าใช้งานจริง โดยใช้เวลาทดสอบประมาณ 2 เดือน อาทิ การเปิดไฟ เปิดแอร์ เปิดน้ำ อย่างเต็มที่เพื่อทดสอบระบบต่างๆ เพื่อทำการซ่อมแซมให้เรียบร้อย แต่ในส่วนของอาคารรัฐสภาเป็นลักษณะของการเข้าใช้งานทันที เป็นการเร่งรีบใช้อาคาร โดยไม่มีเวลาทดสอบระบบให้ดี อย่างไรก็ตาม บริเวณที่เกิดน้ำท่วมดังกล่าวยังอยู่ในระยะประกันที่ทางผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบ โดยมีการส่งมอบให้เป็นพื้นที่ของสภาฯ แล้ว แต่ในสัญญาทางผู้รับเหมาะต้องดูแลต่อเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีนับตั้งแต่ส่งมอบ

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท แต่ใช้งานได้ไม่นานก็เกิดปัญหาแล้ว จะชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงมาตรฐานการก่อสร้างและเงินภาษีที่ประชาชนเสียไปอย่างไร  นายสรศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ทางสภาฯ มีมาตรการควบคุมตรวจสอบพอสมควร แต่เนื่องจากต้องรีบใช้อาคาร จึงยังไม่มีการทดสอบระบบ ซึ่งเชื่อมั่นว่าในการก่อสร้างอาคารทุกแห่งไม่มีที่ไหนสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องพบจุดที่รั่วซึม โดยทั้งผู้ควบคุมงานก่อสร้างและที่ปรึกษาโครงการก็แนะนำตนเองเช่นนี้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ เพราะเราต้องเจอปัญหาซึ่งก็ต้องแก้ไขกันไป

“ในการตรวจสอบอาคารทั้งหมดจะมีคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นผู้ตรวจสอบอีกครั้ง โดยระหว่างนี้หากมีปัญหาเฉพาะหน้าอะไรเกิดขึ้นก็ต้องทำการแก้ไข ซึ่งยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการย้ายเข้ามาใช้อาคารในส่วนของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะหากไปเช่าสถานที่อื่นทางบริษัทที่ปรึกษาคำนวณแล้วว่าหากไม่เข้ามาอยู่จะเกิดความเสียหายจากการที่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่และค่าใช้จ่ายอื่นๆ คิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท เราจึงต้องเข้ามาใช้ที่นี่เพื่อประหยัดงบประมาณ”นายสรศักดิ์ กล่าว

คลิปจาก – AmarinTV34