“ซูจี”สังเกตการณ์! วันแรกเมียนมาร์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ขณะที่ลาวฉีดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกว่า 600 คน ส่วน
วันที่ 27 มกราคม 2564 นี้เป็นวันแรกการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของประเทศเมียนมา ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในภูมิภาคและรัฐต่างๆ หลังจากเมียนมาได้รับวัคซีน Covishield ล็อตแรกจากอินเดีย จำนวน 1.5 ล้านโดส ซึ่งจะเพียงพอสำหรับฉีดให้กับประชาชนจำนวน 750,000 คน โดยนางอองซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตชาติแห่งประชาชาติธิปไตย หรือ เอ็น แอล ดี (NLD) ที่ชนะการเลือกตั้งภายในเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมาแต่กองทัพได้เสนอให้การตรวจสอบการโกงเลือกตั้ง ได้เดินทางไปสังเกตการณ์การฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 ให้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครในกรุงเนปยีดอ
ทั้งนี้ สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ผลิตวัคซีน Covishield และมีการส่งมอบให้แก่รัฐบาลเมียนมาตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย
กระทรวงสาธารณสุขและการกีฬาของเมียนมาออกแถลงการณ์ว่า บุคลากรด้านสาธารณสุขและอาสาสมัครที่ทำงานด่านหน้าในการรับมือกับโรคโควิด-19 นั้นจะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรกในวันนี้ จากนั้นจะเป็นการฉีดให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐสภาตั้งแต่วันศุกร์นี้เป็นต้นไป
รายงานระบุว่า โครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเฟสแรกของเมียนมานั้น จะมีการฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์จำนวนกว่า 3,800 คนของกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลต่างๆในกรุงเนปิดอว์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเมียนมาในวันนี้
ส่วนเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุขประมาณ 25,459 คนในเมืองย่างกุ้งจะได้รับการฉีดในวันนี้เช่นกัน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมียนมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 และขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งขึ้นแตะระดับ 138,368 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 3,082 ราย นับจนถึงวันอังคารที่ 26 ม.ค. 2564
ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของเมียนมาจากท่าขี้เหล็ก หัวเมืองชายแดนตรงข้าม อ.แม่สาย ต่างพากันเดินทางเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่โรงพยาบาลท่าขี้เหล็ก กันอย่างต่อเนื่องหลังจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากอินเดียเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ทางการเมียนมาได้จัดสรรวัคซีนส่งมาให้กับทาง จ.ท่าขี้เหล็ก จำนวน 180 ขวด หรือประมาณ 1,652 โดส เพื่อฉีดให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ที่ถือกลุ่มเสี่ยง รวมจำนวน 348 คนก่อน จากนั้นจึงจะทยอยฉีดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานอื่นๆ และประชาชนทั่วไปเป็นลำดับ
สำหรับวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีน COVI-SHIELD (Astra Zeneca) ที่อินเดียได้ส่งมอบให้กับรัฐบาลเมียนมา โดยขนส่งไปยังกรุงย่างกุ้ง ก่อนมีการกระจายขนส่งทางเครื่องบินจากกรุงย่างกุ้งมายังสนามบินท่าขี้เหล็ก ซึ่งนอกจากใน จ.ท่าขี้เหล็ก แล้วยังมีการส่งวัคซีนไปยังเมืองเชียงตุง เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในรัฐฉานตะวันออกทั้งหมด ระหว่างวันที่ 27-28 ม.ค.หรือใช้เวลา 2 วัน
ส่วนสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในท่าขี้เหล็ก และเชียงตุง ขณะนี้เริ่มคลี่คลายมากขึ้น โดยไม่พบผู้ติดเชื้อมานานกว่าครึ่งเดือนแล้ว หลังจากช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ท่าขี้เหล็กเคยมีประวัติพบผู้ติดเชื้อสูงสุดถึง 108 ราย และยังเป็นต้นทางของกลุ่มผู้ป่วยโควิดสาวไทยที่ทำงานในสถานบันเทิงโรงแรมวันจีวัน จ.ท่าขี้เหล็ก ที่หลบหนีเข้ามายังฝั่งไทยช่วงปลายเดือน พ.ย.2563
ขณะที่ประเทศลาวได้มีการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกว่า 600 คน