สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ราคา 25 บาท
สภาองค์กรของผู้บริโภค แถลงการณ์ข้อเสนอด้านราคาในการต่อสัมปทานสายสีเขียว หากลดราคาค่าโดยสารลงร้อยละ 50 เหลือเพียง 25 บาท สามารถทำได้และมีกำไรอีกด้วย
1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวสามารถลดเหลือเพียง 25 บาทต่อเที่ยวได้ รัฐยังมีกำไรและสามารถนำเงินส่งรัฐได้มากถึง 23,200 ล้านบาท และหากคิดค่าบริการ 49.83 บาท ตามข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จะสามารถนำเงินส่งรัฐได้สูงถึง 380,200 ล้านบาท
สภาองค์กรของผู้บริโภค มีโอกาสได้รับทราบข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ที่ถูกนำเสนอในการประชุมกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า กรุงเทพมหานคร สามารถคืนหนี้สินได้ทั้งหมด แถมยังมีเงินเหลือนำส่งรัฐบาลได้มากถึง 380,200 ล้านบาท ในปี 2602 โดยใช้การคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในราคา 49.83 บาท สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงได้ทดลองทำข้อมูลเปรียบเทียบ หากลดราคาค่าโดยสารลงร้อยละ 50 เหลือเพียง 25 บาท ยังสามารถทำได้และมีกำไรอีกด้วย
2. มูลค่าหนี้ที่แท้จริงของกรุงเทพมหานคร ไม่มีความชัดเจน สร้างความสับสน
กรุงเทพมหานคร ใช้ตัวเลขหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เกินจริง โดยผนวกรวมหนี้ใน 8 ปีข้างหน้าที่ยังไม่เกิด รวมเป็นหนี้สินในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้ออ้างต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวอีก 30 ปี รวม 38 ปีอย่างไม่โปร่งใส ไม่มีข้อมูล ไม่มีที่ไปที่มาของค่าโดยสารรถไฟฟ้า
จากตัวเลขหนี้จำนวน 148,716.2 ล้านบาท (อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 14 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ กทม. อ้างขึ้นมาเพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทาน แล้วคิดค่าโดยสารตลอดสาย 15 – 65 บาท หรือ 130 บาท ในการเดินทางไปกลับ เป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภคล่วงหน้า 38 ปี โดยตัวเลขที่กรุงเทพมหานคร ค้างจ่ายจริง ณ ปัจจุบัน มีเพียง 34,837.00 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็นหนี้การลงทุนโครงสร้าง 18,145.00 ล้านบาท เงินชดเชยส่วนต่อขยาย 7,090.00 ล้านบาท หนี้ค้างชำระเดินรถ 3 ปี 9 เดือน 9,602.00 ล้านบาท
ทั้งนี้ มูลค่าหนี้ที่แตกต่างกันถึง 113,879.2 ล้านบาท โดยคิดรวมจากค่าใช้คืนดอกเบี้ยและค่างานระบบในอนาคต จนถึงปี 2572 ถึงหมดอายุสัมปทานเป็นเงิน 88,904 ล้านบาท และหนี้ค้างเดินรถส่วนต่อขยาย ตั้งแต่ปี 2562 – 2572 อีก 21,132 ล้านบาท ฯลฯ ทั้งหมดนี้ได้ถูกนำมาเป็นยอดหนี้รวมปัจจุบันของ กทม. เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปี
3. สภาขององค์กรผู้บริโภคเสนอให้กรุงเทพมหานคร ยุติการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทาน และรอการตัดสินใจจากผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พร้อมเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น หนี้สิน ดอกเบี้ย การคิดค่าจ้างเดินรถ รายได้จากการเดินรถ รายได้จากการพัฒนาสถานี การโฆษณา เป็นต้น
ราคา 15 – 65 บาท ตลอดสายไปกลับ 130 บาทต่อวัน เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึงร้อยละ 39.27 ของค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาท ในกรุงเทพมหานคร เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนยาวนานถึง 38 ปี จนถึงปี 2602 ทำให้บริการรถไฟฟ้าไม่สามารถเป็นบริการขนส่งมวลชนได้จริง ไม่สามารถลดปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครได้ ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คาดหวัง และชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรของผู้บริโภค หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูล ภาระหนี้ การคิดราคาค่าบริการ การจ้างบริการเดินรถ หรือการสร้างทางเลือกของแหล่งรายได้อื่นของกรุงเทพมหานคร ในการสนับสนุนบริการรถไฟฟ้าให้เป็นบริการขนส่งมวลชน และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตรวจสอบสัญญาที่จะสร้างภาระให้กับผู้บริโภค.