เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 13 มีนาคม เฟชบุ๊กประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยแพร่ข้อมูลวันที่ 13 มีนาคมของทุกปีตรงกับวันช้างไทย

“ช้าง” คือขุนพลที่ร่วมรบอยู่ในสมรภูมิจนมีชัยชนะ อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงประทับช้างนำราษฎรไปบำเพ็ญกุศลตามพระอารามในอรัญญิก จะเห็นได้ว่าทั้งในยามศึกและยามสงบช้างอยู่คู่แผ่นดินสุโขทัยเรื่อยมา ช้างมีความสำคัญมากถึงเพียงนี้ จึงมีการสอนวิชาขับขี่ช้างซึ่งเป็นวิชาสำคัญสำหรับเจ้านายและลูกผู้ดี เพื่อยังประโยชน์ในการใช้ช้างเป็นพาหนะและเตรียมการเพื่อศึกสงคราม

นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง

เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้นจะช่วยให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น ซึ่งมีการริเริ่มจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่พระนเรศวรฯทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติมีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของแดนสยาม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม 2541 ประกาศให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันช้างไทย

วันเดียวกัน หมอล็อต นายสัตวแพทย์ (นสพ.) ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้าฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้โพสต์เฟซบุ๊กเล่าเรื่องช้างป่าตัวหนึ่งที่เคยเข้าไปรักษาในป่า กระทั่งเวลาผ่านไปได้มาเจอช้างตัวเดิมอีกครั้ง ปรากฏว่าช้างตัวดังกล่าวจำตัวเองได้ มีการยื่นงวงมาทักทาย กลายเป็นภาพประทับใจระหว่างหมอกับช้าง จึงบันทึกเอาไว้เนื่องในวันช้างไทย

โดยหมอล็อตเขียนเฟซบุ๊กเอาไว้ดังนี้

12 ปี หลังจากที่รักษาช้างป่าตัวนี้ เคสแรกในช้างป่า จากการป่วยด้วยโรค Trypanosomiasis คือโรคปรสิตในเลือด เกิดจากเชื้อโปรโตซัวชนิดที่พบในกระแสโลหิตของสัตว์คือเชื้อ Trypanosoma evansi ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด

อาการทั่วไปที่พบได้แก่ มีไข้ เบื่ออาหาร ผอมโซ บวมน้ำโดยเฉพาะบริเวณคาง คอหรือท้อง ตาอักเสบหรือขุ่น ขาแข็ง หลังแข็ง คอบิด โลหิตจางอาจตายอย่างเฉียบพลันได้ และที่สำคัญ เป็นโรคอันตราย สามารถติดสู่ช้างป่าและสัตว์ป่าตัวอื่นๆ ได้ ใช้เวลารักษานานกว่าจะเข้าถึงตัวเพื่อรักษาได้ ก็ชิงไหวชิงพริบอยู่นานมาก ช้างป่าตัวนี้ฉลาดสุดๆ มีเรื่องเหลือเชื่อเกิดขึ้นมากมาย

ล่าสุด ได้มาเจอกันอีกครั้ง เราจำกันได้…ทักทายกัน (วินาทีที่สัมผัสกัน ผมได้ยินเสียงร้องของช้างป่าตัวนี้ ในโทนเสียงที่ไม่เคยได้ยินจากช้างตัวไหนมาก่อน ประหลาดใจ)

13 มีนาคม วันช้างไทย รักช้างอย่าลืมให้กำลังใจคนทำงานกับช้าง ในความเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์นะครับ