งดราชพิธีพืชมงคล ปีติโปรดเกล้าฯ ปลุกเสกเมล็ดพันธ์ุข้าว
นับเป็นปีที่ 2 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยงด พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือน 6 ของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น
ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณี ครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2479 เว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ.2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน
ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแส ให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเสด็จฯมาเป็นประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปีสืบมามิได้ขาด ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ครั้งดำรงพระบรมราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯแทนพระองค์เป็นประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน หากก็ต้องทรงงดเสด็จฯ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปี 2563 และครั้งนี้ในปี 2564 ด้วย ทั้งนี้ เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาในระยะแรกนั้น พระยาแรกนา ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง สำหรับเทพีทั้งสี่พิจารณาคัดเลือกจากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายหลังพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตำแหน่ง
ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีคู่หาบทองและคู่หาบเงินนั้น ได้ทำการพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าวนั้นถือว่าเป็นอาหารหลักของประชาชนในภาษาบาลีเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือบุพพัณณะ หรือบุพพัณณชาติ
ส่วนพืชอื่นๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรืออปรัณชาติ หมายถึง พืชจำพวกถั่วงา เป็นต้น ถ้าเรียกควบทั้งสองอย่างก็เรียกว่า บุพพัณณปรัณณชาติ ที่หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด บุพพัณณปรัณณชาติที่นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลนั้น เป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้ มีเมล็ดพืชต่างๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว กับเผือกมันต่างๆ พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดเกล้าฯให้ปลูกในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดารโหฐาน และพระราชทานมาเข้าพระราชพิธีพืชมงคล พันธุ์ข้าวพระราชทานนี้ จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซอง แล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้ อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้เป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา
แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งระบาดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2563 นั้น ทำให้การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ไม่สามารถดำเนินการจัดได้ตามปกติ การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.00 น. และปฏิบัติหน้าที่ประธานในพิธีหว่านข้าวในแปลงนา ทดลองสวนจิตรลดาฯ ในวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้หว่านข้าว
พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระคันธารราษฎร์ใหญ่ (ประทับนั่ง) พระคันธารราษฎร์จีน (ประทับนั่ง) ที่ประดิษฐาน ณ หอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานและพันธุ์พืชต่างๆ ในวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2564 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระบรมราชา นุญาตให้นำเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ผู้แทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปีพุทธศักราช 2563-2564 จำนวน 76 คน เข้ารับโล่รางวัลพระราชทานเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะกำหนดวันและเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง
อนึ่ง ในปีนี้กรมการข้าวทำหน้าที่ในการจัดเตรียมพันธุ์ข้าวพระราชทานและพันธุ์พืช ซึ่งนำมาใช้ในพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพันธุ์ข้าวทรงปลูกในฤดูนาปี 2563 โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาฯ มาใช้ในพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ประจำปี 2564 ประกอบด้วย ข้าวนาสวน 5 พันธุ์ (ขาวดอกมะลิ 105, ปทุมธานี 1, กข79, กข43, กข6) เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,396 กิโลกรัม และจัดเป็น พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน บรรจุในซองพลาสติกแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกร ประชาชนผู้สนใจ และชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป