พอกันทีกับการนั่งเทียนเขียนนโยบายโดยไม่ได้เข้าใจหรือลิ้มรสถึงปัญหาของประชาชนจริงๆ
รองผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ แห่งกรมสวัสดิการ กรุงปักกิ่ง “หวังหลิน” 王林 โด่งดังเป็นพลุแตก
รูปภาพจาก http://www.macaodaily.com
หลังจากเปิดปฏิบัติการลงมือลงแรงสัมผัสชีวิตชาวบ้านด้วยตนเอง ด้วยการปลอมตัวลงไปขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารเดลิเวอรี่
นี่เป็นนโยบายจากกรุงปักกิ่งสั่งลงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ให้หน่วยงานระดับกรมและสำนักงาน พรางตัวลงไปสัมผัสชีวิตจริงในสังคม
เพื่อรับรู้ถึงปัญหา , ข้อด้อย , จุดเสี่ยง และความทุกข์ใจของผู้ใช้แรงงาน
โดยเฉพาะกลุ่ม “ผู้ขับขี่รถส่งอาหาร” หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า 外卖小哥 wàimài xiǎogē (ไว่-ไม่-เสี่ยว-เกอ)
ซึ่งเป็นอาชีพที่เพิ่มจำนวนบุคลากรขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
หากแต่สวัสดิภาพและสวัสดิการของพวกเขา ยังคงถูกมองข้าม รวมถึงบางส่วนยังถูกบริษัทผู้ให้บริการเอารัดเอาเปรียบ
ท่านรองผอ. “หวัง” อาสาเป็นตัวแทนสำนักงาน ลงพื้นที่ขี่มอเตอร์ไซค์ด้วยตนเอง โดยเริ่มจากการฝึกงานกับผู้ขับขี่รถเดลิเวอรี่ตัวจริง 1 วัน
ก่อนที่วันต่อมาจะลุยเดี่ยว
วันแรกของ “รองหวัง” ผู้น่าสงสาร ส่งอาหารผิดตึก หาร้านอาหารไม่เจอ จราจรติดขัด โทรหาลูกค้าไม่ติด ไปส่งอาหารช้าโดนปรับเงิน!
สารพัดปัญหา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอุปสรรคที่บรรดาผู้ทำอาชีพส่งอาหารต้องพบเจอในแต่ละวัน
.
หลังจากลิ้มรสความลำบากพอสมควรแล้ว วันที่ 2 รองหวังขอแก้ตัว เมื่อประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น ขอตั้งเป้าทำเงินให้ได้สัก 100 หยวน (500 บาท)
จัดเต็มขี่รถส่งของแบบลืมเหนื่อยสัก 12 ชั่วโมง!
ปรากฏว่าสาหัสเอาเรื่อง ในเวลามากถึง 12 ชั่วโมง ท่านรองฯ ส่งอาหารได้เพียงแค่ 5 ออเดอร์
ได้เงินค่าเหนื่อยรวมแค่ 41 หยวน หรือราว 200 บาท
เท่ากับ 1 ชั่วโมงได้เงินไม่ถึง 17 บาท ซึ่งอย่าลืมว่าค่าครองชีพปักกิ่งสูงกว่าเมืองไทยพอสมควร
เจ็บปวดที่สุดคือ ช่วงใกล้ค่ำ วิ่งรถไปส่งอาหาร เนื่องจากการจราจรติดขัดสุดขีด ทำให้ไปช้ากว่าเวลานัดหมาย
โดนหักเงินไปอีก 60% เหลือได้รับค่าจ้างเพียง 6.6 หยวน หรือประมาณ 30 บาท!
“งานนี้ไม่ง่ายจริง ๆ ผมรู้สึกท้อใจมาก ด้วยเวลาทำงานมากถึง 12 ชั่วโมง ทำเงินได้แค่นี้ (200 บาท) ยังห่างจากเป้าที่ผมวางไว้มากโข”
แน่นอนว่าประสบการณ์ลงพื้นที่ อาบเหงื่อสัมผัสชีวิตคนหาเช้ากินค่ำในครั้งนี้ ทำให้รองหวังได้ข้อมูลมากมาย นำกลับไปทำรายงาน
เพื่อการปรับแก้นโยบายและบังคับใช้อย่างเข้าเป้าและตรงจุด เพื่อความพึงพอใจของประชาชน
“ผมรู้เลยว่ายุคนี้นโยบายต้องยืดหยุ่น และเราต้องลงรายละเอียดในแต่ละอาชีพ จะเหมารวมไม่ได้ โดยเฉพาะอาชีพใหม่ ๆ เราต้องทำการบ้าน หาข้อมูลกันหนักกว่านี้”
“พอกันทีกับการนั่งเทียนเขียน คิดนโยบายเอาเองจากในออฟฟิศ การคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานที่ได้ผล ผู้บังคับใช้กฎหมายจะเข้าใจอาชีพนั้น ๆ อย่างถ่องแท้จริง ๆ”
นโยบายที่รัดกุม ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ จะทำให้การเอารัดเอาเปรียบ และความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างลดน้อยลง
ความสุขของประชาชน โดยเฉพาะคนทำงานในระดับฐานรากจะเพิ่มมากขึ้น สังคมจะน่าอยู่ขึ้น
หลังจากเรื่องราวการผจญภัยของรองผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ปักกิ่งถูกเผยแพร่ออกไป
ล่าสุดบริษัทผู้ให้บริการส่งอาหารชั้นนำของจีนถึง 2 แห่ง ออกแถลงการณ์ในเวลาไล่เลี่ยกัน พร้อมทบทวนระเบียบ “การปรับเงิน” ค่าจ้าง กรณีส่งอาหารล่าช้า
และให้คำมั่นจะส่งทีมงานสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของบรรดาพนักงานขับขี่ รวมถึงพัฒนาประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
เรียกว่าการ “ขยับตัว” ลงพื้นที่ทำงานจริงจังของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนในครั้งนี้ ส่งแรงกระเพื่อมมหาศาล
ทั้งเป็นตัวอย่างให้แก่หน่วยงานอื่น ๆ ปฏิบัติตาม รวมถึงช่วยกระตุ้นเตือนบรรดาผู้ประกอบการ ไม่ให้ค้ากำไรเกินควร และเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน
เป็นปฏิบัติการพิชิตใจพี่น้องประชาชน ทำให้ทุกคนรู้สึกว่ารัฐบาลปกป้องดูแล ภาษีที่เสียไปคุ้มค่าทุกหยวนทุกสตางค์
ขอขอบคุณข้อมูล http://www.macaodaily.com , FB ไทยคำ-จีนคำ