เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

 

 

ไม่กี่วันที่ผ่านมาในโลกโซเชียลทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ได้เกิดปรากฏการณ์ “ย้ายประเทศกันเถอะ” เมื่อเหล่าคนรุ่นใหม่รวมถึงนักวิชาการหลายท่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของการดำรงชีวิตในประเทศว่า มองไม่เห็นอนาคตที่ดีขึ้นหากยังอยู่ในประเทศต่อไป

 

 

เมื่อสิทธิต่างๆ ภายในประเทศที่ควรจะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงกลับถูกริดรอน การจัดการปัญหาภายในประเทศต่างๆ ของภาครัฐก็ล้มเหลว กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พยายามชี้จุดบกพร่องในการทำงานของรัฐก็ถูกเมินเฉยต่อคำชี้แนะเรียกร้อง รวมถึงกลุ่มคนบางส่วนยังใช้ถ้อยคำขับไสไล่ส่งว่า “ไม่พอใจก็ออกจากประเทศไปซะ” ทั้งๆ ที่ การชี้แนะให้เห็นข้อผิดพลาดในหลายๆ มุมมองนั้นถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาและช่วยให้มองเห็นปัญหาในหลายๆ แง่มุม หาใช่ว่าการเห็นต่างจะแปลว่าพวกเขากลายเป็นคนชังชาติ

เช่นนั้น เหตุใดการเห็นต่างและอยากเปลี่ยนแปลงจึงแปลว่าชังชาติ การยอมรับสิ่งที่เป็นอยู่มาเนิ่นนานจึงแปลว่ารักชาติ หรือการที่บุคคลคนหนึ่งอยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจึงแปลว่าเนรคุณ?

 

 

กลุ่มย้ายประเทศกันเถอะ ก่อตั้งขึ้นเพื่อแบ่งปันขั้นตอนวิธีการย้ายไปอยู่ประเทศอื่น ให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ในการใช้ชีวิตในต่างแดน แบ่งปันประสบการณ์ในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่ตั้งแต่ระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ ภาษี คุณภาพชีวิตดีๆ ที่หลายคนใฝ่ฝัน

กระนั้น ยังมีกลุ่มคนภายนอกบางส่วนที่คิดว่าเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล้อเล่นขำขัน หากแต่ความจริงแล้ว นี่คือกลุ่มที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแบ่งปันประสบการณ์จริง มีการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง และน่าตกใจที่มีประชาชนกว่า 5 แสนรายมีแนวคิดแบบเดียวกัน

 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า การย้ายประเทศจะเป็นไปได้จริงหรือไม่นั้น ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม เพราะสมาชิกส่วนใหญ่คือกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์ วิศวกร เป็นต้น ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ เป็นแรงงานผู้ขับเคลื่อนประเทศ และเป็น สมองของชาติ น่าเป็นห่วงที่บุคคลเหล่านี้ต่างแสดงความคิดเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า มองไม่เห็นทางที่จะสร้างความเจริญให้แก่ตนเองได้หากยังอยู่ในประเทศต่อไป