เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ที่ รพ.สต.เขาน้อย อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปท. และนายทองสุข ณ พล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ ปปท.เขต 4 และ พล.ต.กาจบดินทร์ ยิ่งดอน ผอ.กอ.รมน.จ.ขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่ ปปท.และ กอ.รมน. ร่วมกันลงพื้นที่ ต.เขาน้อย อ.เวียงเก่า พบกับชาวบ้านจำนวน 90 คน ซึ่งมีรายชื่อในบัญชีเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น โดยเจ้าหน้าที่ ปปท.ได้อ่านรายชื่อชาวบ้านตามบัญชีเบิกจ่าย ซึ่งชาวบ้านก็มาพบกับเจ้าหน้าที่พร้อมบัตรประชาชน และยืนยันว่า ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือตามรายการดังกล่าว

นางหนูกาศ ทองชาติ อายุ 48 ปี และนางบัวบาล อินทร์เผือก อายุ 47 ปี ทั้งสองคนเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เป็น อสม.มาหลายปี และในปี 2559 ได้มีเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่มาอบรมในโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคจิต และให้ อสม.ที่เข้าอบรม รวบรวมเอกสารประจำตัวผู้ป่วย อสม. 1 คน ดูแลผู้ป่วย 2 ราย ซึ่ง อสม.ทุกคนได้รวบรวมเอกสาร สำเนาบัตรประชาชน พร้อมทะเบียนบ้าน ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น และไม่เคยรู้มาก่อนว่า ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น มีเงินช่วยเหลือชาวบ้านรายละ 2,000 บาท เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการติดต่อจากทางศูนย์ฯ แต่อย่างใด

ภายหลังพบปะชาวบ้าน และทราบข้อมูลทั้งหมดแล้ว พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปท. เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ลงพื้นที่พบชาวบ้านและสอบถามข้อเท็จจริงแล้ว ชาวบ้านที่มีชื่อไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากทางศูนย์ฯ แม้แต่รายเดียว พร้อมกับกล่าวว่า จากนี้ไป ปปท.จะเดินหน้าสืบสวนสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ในระดับสั่งการ และผู้ปฏิบัติการของศูนย์ฯ จำนวน 5 คน ซึ่งในขณะนี้มีมูลการทำความผิดจริงชัดเจน จากนั้นจะนำเรื่องที่ตรวจสอบ และข้อมูลเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะอนุกรรมการของ ปปท.ตรวจสอบทั้งหมด เพื่อสรุปการกระทำความผิดของแต่ละคน ว่าใครเกี่ยวข้องในส่วนใดบ้าง คาดว่าจะสรุปสำนวนได้ภายใน 6 เดือน

“พฤติการณ์การกระทำความผิดในเบื้องต้นของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น มีการกรอกรายละเอียดในแบบใบสำคัญรับเงินโดยที่แบบใบสำคัญรับเงินยังไม่มีข้อมูลอะไรเลยเป็นแบบว่างเปล่า โดยเจ้าหน้าที่นำเอกสารบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิ์มาเซ็นปลอมลายมือชื่อของผู้มีสิทธิ์ในช่วงรับเงิน เชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ในการเบิกจ่าย และเขียนรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคล ในแบบข้อเท็จจริงทั่วไปโดยสมมติ หรือคิดขึ้นเอง เพื่อให้บุคคลตามสำเนาบัตรประชาชนนั้นเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับความสงเคราะห์ช่วยเหลือ และแสตมป์รายละเอียดจำนวนการจ่ายเงิน ในแบบใบสำคัญรับเงิน (แบบ5) โดยที่แบบใบสำคัญรับเงิน มีผู้มีสิทธิ์ได้รับความสงเคราะห์ช่วยเหลือได้ลงลายมือชื่อมาแล้ว แต่ยังไม่มีการระบุยอดจำนวนเงินทั้งที่เป็นตัวเลขและตัวหนังสือ มีการแสตมป์รายละเอียดจำนวนการจ่ายเงิน มีทั้งที่จ่ายรายละ 2,000 และ 3,000 บาท รวมทั้งทำการปลอมลายมือของผู้มีสิทธิ์รับเงินในแบบใบสำคัญรับเงิน (แบบ5) ทำกันเองที่บ้านพัก โดยใช้อุปกรณ์โต๊ะกระจกส่องแสงเขียนแบบ เพื่อให้เห็นลายมือชื่อของผู้มีสิทธิ์ชัดเจน จากนั้นจึงทำการปลอมลายมือชื่อของผู้มีสิทธิ์”

พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล กล่าวอีกว่า ในส่วนของ น.ส.ปนิดา ยศปัญญา อายุ 22 ปี นักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เข้าร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว รวมถึงความวิตกกังวลว่าจะมีความผิดในคดีอาญาในการปลอมลายมือชาวบ้านนั้น ดูจากพฤติกรรมแล้ว นักศึกษารายนี้ไม่มีเจตนากระทำการใดๆ แต่ที่ทำไปเพราะอยู่ในช่วงฝึกงาน และถูกสั่งให้ทำ จึงไม่มีความผิดในส่วนนี้ ทั้งนี้ จะกันน้องไว้เป็นพยาน

“ในเรื่องนี้ ต้องขอบใจนักศึกษาที่กล้าเปิดเผยเรื่องจริงทั้งหมด พร้อมหลักฐาน เพราะนักศึกษาไม่มีเจตนาที่จะทำความผิด ถ้านักศึกษาไม่มาร้องเรียนจากสิ่งที่พบเห็น และถูกสั่งให้ทำ ก็คงไม่ทราบเรื่องนี้ เมื่อทราบเรื่องแล้ว คสช.ก็สั่งให้ ปปท.ทำการตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ ทั้ง 37 ศูนย์ เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก” พ.ต.ท.วันนพ กล่าว.

ที่มา – ไทยรัฐ