เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

กลายเป็นปัญหาที่แก้ลำบากยากยิ่งกับตัวเงินตัวทองซึ่ง พ.ต.อ. เทวานุวัฒน์ อนิรุทธเทวา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(สปภ.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภา กทม.เปิดเผยข้อมูลการจับตัวเงินตัวทองและงู ของ สปภ.แต่ไม่มีที่กักเก็บหรือส่งต่อหน่วยงานดูแลจนต้องปล่อยออกสู่พื้นที่เหมือนเดิมว่า  ยอมรับว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องจริง เนื่องจากภารกิจการจับสัตว์ ของ สปภ.นั้นเป็นงานบริการ แม้จะไม่ได้เป็นภารกิจโดยตรงแต่ประชาชนเมื่อมีเหตุพบสัตว์ร้าย ก็จะนึกถึง สปภ.ก่อนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการไปตามปริยาย ซึ่งตนมองว่าเป็นภารกิจที่เพิ่มขึ้นมา จึงได้ของบเพิ่มเติมแต่เนื่องจากไม่ถือเป็นภารกิจของ สปภ.ก็ไม่มีการอนุมัติงบ  และปัญหาในการจับสัตว์ โดยเฉพาะ งูและตัวเงินตัวทองนั้นประสบปัญหาว่าเมื่อจับแล้วจะนำไปดำเนินการอย่างไรต่อ

ในส่วนของงูนั้นสามารถนำไปปล่อยตามป่าต่างๆได้ ซึ่งงูจะสามารถใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้ตามปกติ ส่วนตัวเงินตัวทองนั้นตามปกติแล้วเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่พบเจอได้ง่าย บ้างก็เห็นอาศัยอยู่ตามลำคลอง สวนสาธารณะ  ซึ่งหากพบเห็นตามพื้นที่ดังกล่าวมักจะไม่มีปัญหา แต่หากเข้าใกล้บ้านเรือนคน ผู้คนพบเห็นก็มักจะกลัว จึงแจ้งให้ สปภ.เข้าดำเนินการจับ

“แต่เมื่อจับแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะตัวเงินตัวทองถือเป็นสัตว์สงวนสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์สงวน ตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ครอบครอง หรือกระทำการค้าซึ่งสัตว์ป่าฯ และซากของสัตว์ป่าฯ หากฝ่าฝืนจะมีความผิด ตามกฎหมาย  ทำให้ กทม.ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้นอกจากจับออกจากบ้านคน และนำมากักกันไว้ได้ชั่วคราว ที่สถานีดับเพลิง จากนั้นก็ต้องนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำหรือสวนในพื้นที่เท่านั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่สัตว์จะกลับมาในบริเวณบ้านเรือนอีกเพื่อหาอาหาร”

พ.ต.อ. เทวานุวัฒน์  กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่มีพื้นที่ใดยอมรับตัวเงินตัวทองไปปล่อยในพื้นที่เพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมาย รวมถึงเกรงว่าจะทำระบบนิเวศในพื้นที่เสียไป หรือบางจุดรับแต่จำนวนจำกัดมาก ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนตัวเงินตัวทองที่มีในพื้นที่กรุงเทพฯที่มีจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวควรมีการหารือระหว่าง กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลร่วมกันอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยจะทำอย่างไรที่จะลดจำนวนหรือหาสถานที่ที่เหมาะสมในการดูแล ไม่ให้เกิดผลกระทบกับใคร   เพราะถึงแม้จะไม่เป็นสัตว์ร้ายแต่หากพบเห็นในพื้นที่ที่ไม่ใช่แหล่งธรรมชาติชาวบ้านก็จะกลัวเป็นธรรมดา

ที่มา – เดลินิวส์