งานนี้สังคมคงไม่ยอมให้จบง่ายๆแน่ กับคดีล่าเสือดำ ของเจ้าสัวเปรมชัย ซึ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิ และนายภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิ ได้แถลงข่าว โดยอ่านแถลงการณ์ทวงถามความคืบหน้าคดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยนายภานุเดชระบุว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกรวม 4 คน ในพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้ตั้งแคมป์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และตรวจยึดซากกสัตว์ป่าคุ้มครอง พร้อมอาวุธปืนและเครื่องกระสุน ปลอกกระสุนนั้น จนวันนี้ผ่านไปครบระยะ 1 เดือนแล้ว แต่การสอบสวนเพื่อดำเนินการกลับเป็นไปอย่างล่าช้าในสายตาของสาธารณชน
มูลนิธิสืบฯเห็นว่า 1.เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีพบว่า นายเปรมชัยกับพวกลักลอบนำอาวุธปืนซุกซ่อนไว้ในรถก่อนขออนุญาตเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตั้งแต่แรกแล้ว ก่อนที่จะลักลอบเข้าไปตั้งแคมป์ในเส้นทางและบริเวณพื้นที่ที่ไม่อนุญาต แสดงให้เห็นว่านายเปรมชัยมีเจตนาเข้าไปภายในป่าเพื่อล่าสัตว์ป่าตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ได้เจตนาเข้าไปพักผ่อนอย่างที่กล่าวอ้าง ประกอบกับเสียงปืนดังมาจากบริเวณที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีกลุ่มของนายเปรมชัยเข้าไปเพียงกลุ่มเดียว รวมไปถึงซากสัตว์ป่า ร่องรอยกระสุนบนซากสัตว์ป่า เศษกระดูกสัตว์ป่าที่พบในลำห้วย รวมถึงการประกอบอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ป่าที่พบบริเวณตั้งแคมป์ ล้วนเป็นพยานวัตถุสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ชัดเจนว่านายเปรมชัยกับพวกร่วมกันทำผิด
นายภานุเดชกล่าวว่า 2.จากพฤติการณ์แห่งคดี และหลักฐานสำคัญที่ปรากฏ ทำให้เห็นชัดว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีซับซ้อน จึงขอเร่งรัดให้ฝ่ายที่ดูแลและรับผิดชอบการดำเนินคดี โดยเฉพาะตำรวจ เร่งรัดการดำเนินการเพื่อสรุปสำนวน พร้อมความเห็นไปยังอัยการและส่งห้องศาลอย่างรวดเร็ว และอย่าพยายามเบี่ยงเบนประเด็นในการสอบสวนโดยมุ่งไปสู่การเสาะหาพยานวัตถุที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ 3.ขอให้กรมอุทยานฯและรัฐบาลเร่งรัดติดตามคดีอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบสำนวนคดีในชั้นอัยการอย่างรอบคอบก่อนส่งฟ้องศาล 4.ขอให้รัฐบาลอยู่เคียงข้างประชาชน และร่วมประณามผู้มีเจตนาทำร้ายทรัพยากรประเทศ
นายศศินกล่าวว่า จะส่งแถลงการณ์ฉบับนี้ไปยัง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ก่อน และจะร่วมกับเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์อื่นๆ เดินทางไปพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์เพื่อให้เร่งรัดการดำเนินการเรื่องนี้เร็วๆ นี้
“ตามจากข่าว เราทราบว่า ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ พนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ อย่างไร ซึ่งพวกเราขอประกาศเลยว่า หากในสำนวนคดีที่ตำรวจจะส่งฟ้องศาล ถ้าไม่มีข้อหาเจตนาฆ่า ล่าสัตว์ป่า เราคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องนัดกับใครเพื่อจะออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ เพราะพวกเราไม่ยอม นั่นหมายความว่าจะเกิดปรากฏการณ์ ประชาชนจะออกมาเดินกลางถนนอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน แต่ต้องรอให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงก่อน ผมคิดว่า กระสุนที่ยิงสัตว์ป่าตายเพียงไม่กี่นัดคงจะไม่คุ้มค่าหากมันจะทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย หากเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นมา” นายศศินกล่าว
ประธานมูลนิธิสืบฯกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นขั้นตอนต่อไปที่ทางมูลนิธิสืบฯและประชาชนจะร่วมกันดำเนินการ แต่ ณ เวลานี้ ก็จะคอยจับตาการทำงานของพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่หากเกิดความไม่น่าไว้วางใจขึ้นมาในอนาคต อาจจะต้องทำหนังสืออย่างเป็นทางการ ขอให้ ผบ.ตร.เปลี่ยนคนเข้ามาทำคดี แทนทีมที่ทำอยู่ในปัจจุบัน หรือขอให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาช่วย
“เวลานี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นเจ้าทุกข์ ซึ่งสามารถพิจารณาสำนวนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะทำเพื่อส่งฟ้องร้องได้ ผมก็ค่อนข้างมั่นใจว่า กรมอุทยานฯทำเรื่องนี้เต็มที่ คุยกับนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ท่านบอกว่า เรื่องนี้กรม 100% เพราะหากปล่อยให้คดีหลุด ก็เหมือนกับการทำร้ายจิตใจของเจ้าหน้าที่ทุกคน เจ้าหน้าที่จะเสียกำลังใจในการทำงานอย่างมาก” นายศศินกล่าว
นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) กล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่ง ที่ยังไม่ค่อยจะมีใครพูดถึง จากกรณีการล่าสัตว์ป่าของนายเปรมชัย คือ เหมือนจะเป็นการตอกย้ำให้คณะกรรมการมรดกโลกเพ่งเล็งการจัดการพื้นที่มรดกโลกของประเทศไทย อย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตกมากขึ้น ว่าเป็นพื้นที่ที่ยังมีปัญหาเรื่องการล่าสัตว์อยู่
นายเพชรกล่าวว่า ขณะนี้ เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนได้ 130,000 รายชื่อ เพื่อยื่นให้ทางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้มีการแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่ในบทบัญญัติว่าด้วยการล่า และฆ่าสัตว์ป่านั้น มีบทลงโทษน้อยไป นั่นคือ จำคุกไม่เกิน 4 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท เท่านั้น โดยให้มีการพิจารณากรณีที่ผู้ต้องหารับสารภาพ กับกรณีที่ผู้ต้องหาตั้งทนายขึ้นมาสู้ทุกประเด็น เพื่อให้ตัวเองพ้นผิดด้วย
“สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง คือ ประเด็นธรรมาภิบาลของผู้บริหาร องค์กรใหญ่ระดับชาติ และระดับภูมิภาค อย่างนายเปรมชัย ที่ธรรมาภิบาลในองค์กรเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่าผู้บริหารจะต้องไม่ทำผิดกฏหมาย ซึ่งบริษัท ที่นายเปรมชัยทำงานอยู่นั้น ไม่ใช่ทำเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ทำในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย เวลานี้ นายเปรมชัยก็ยังคงปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนี้นอกจากสื่อมวลชนในประเทศไทยสนใจแล้ว สื่อมวลชนจากนานาชาติ ที่บริษัทของนายเปรมชัยเข้าไปทำงาน ก็ให้ความสนใจเรื่องนี้ด้วย” นายเพชรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ของมูลนิธิสืบฯ ยังมีเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์จากทั่วประเทศมาร่วมให้กำลังใจ และแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เช่น มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย กลุ่มอนุรักษ์กาญน์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมี ดารานักแสดง เช่น นายวัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงจากช่อง 7 ในฐานะกรรมการมูลนิธิสืบฯ น.ส.ชลดา เมฆราตรี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเดอะวอยซ์ สรรพเสียงเพื่อสัตว์ โดย น.ส.ชลดาได้ร่วมแสดงจุดยืน โดยการขอเชิญชวนคนไทยร่วมกันแสดงสัญลักษณ์แห่งความเป็นธรรม และเป็นส่วนหนึ่งกับมูลนิธิเดอะวอยซ์ฯในการเรียกร้องขอความยุติธรรมให้กับเสือดำ และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานเพื่อผืนป่าทุกคน โดยโพสต์ภาพตัวเองพร้อมใช้มือซ้ายแสดงแทนหัวใจ ทำเครื่องหมายกากบาท ไม่ยอมรับความไม่เสมอภาค และ 2 มาตรฐานของกฎหมายไทย
ที่มา – มติชน