เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 7 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,519 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,448 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,958 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,490 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 55 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 301,172 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 4,148 ราย ยอดรวมหายป่วยแล้ว 231,171 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 67,614 ราย อาการหนัก 2,496 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 54 ราย เป็นชาย 32ราย หญิง 22 ราย อยู่ในกทม. 30 ราย ปัตตานี 4 ราย สมุทรปราการ ปทุมธานี จังหวัดละ 3 ราย นครราชสีมา ยะลา สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย เชียงราย เพชรบุรี ชลบุรี นครปฐม ชัยภูมิ นราธิวาส นครศรีธรรมราช และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 2,387 ราย ขณะที่การฉีดวัคซีน วันที่ 6 ก.ค. ฉีดไปได้ 269,653 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 223,268 ราย เข็มที่สอง 46,385 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 11,328,043 โดส ซึ่งเป้าหมายเราอยากฉีดให้ได้วันละ 300,000-500,000 โดส ตอนนี้ถือว่ายังน้อยกว่าแผน ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 185,381,383 ราย เสียชีวิตสะสม 4,008,981 ราย

อัตราติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มสูง-อัลฟาลดลง

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การเดินทางข้ามพื้นที่ของประชาชนจากพื้นที่เสี่ยง กลับไปต่างจังหวัด ทำให้ขณะนี้มีการกระจายเชื้อ COVID-19 ไป 40 จังหวัด โดยภาคเหนือ 11 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรวม 88 คน ภาคกลางและภาคตะวันออก 9 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรวม 65 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรวม 218 คน และภาคใต้ 3 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรวม 6 คน

ขณะที่การตรวจคัดแยกผู้ป่วยใน กทม. ขณะนี้พบสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) น้อยลง แต่พบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) มากขึ้น ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่า การเดินทางข้ามจังหวัดทำให้มีการแพร่กระจายของสายพันธุ์เดลตาได้มากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ผู้เชี่ยวชาญนำเสนอรายละเอียดของสายพันธุ์เดลตาที่ขณะนี้มีการระบาดหลายพื้นที่ โดยในต่างประเทศที่พบการระบาดอย่างหนักคือ สหราชอาณาจักร พบในประชากรที่ติดเชื้อเกิน 90% สหรัฐอเมริกาพบเพิ่มขึ้น 20% และมีรายงานว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 ยังมีโอกาสติดเชื้อสายพันธุ์นี้ได้

ยกตัวอย่าง ประเทศอังกฤษ มีรายงานผู้ติดเชื้อ 92,029 คน ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดลตา พบว่า 20,000 คนในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด ได้รับวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว และผู้ที่รับวัคซีนเข็ม 2 ไปแล้วแต่ยังพบการติดเชื้อมี 7,235 คน โดยรวมแล้วมีข้อดีคือ คนที่ฉีดวัคซีนมีเปอร์เซ็นเพียง 8% ที่มีอาการหนัก นอนโรงพยาบาล และทำให้ยอดการเสียชีวิตต่ำลงอย่างชัดเจน

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงเน้นย้ำให้ผู้ที่มีผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัว ขอความร่วมมือให้ผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา อาจทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว-ผู้สูงอายุ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง หากติดเชื้อจะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิต

ขณะที่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเมินว่า ประเทศไทยเริ่มพบสายพันธุ์เดลตาในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริการายงานว่า สายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้เร็ว จึงมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่าภายใน 2 สัปดาห์

จะเห็นตัวเลขจาก 1,000 ขึ้นเป็น 2,000 จากนั้นขึ้นเป็น 4,000 มีการคาดการณ์สัปดาห์หน้าตัวเลขอาจขึ้นได้ถึง 10,000 จึงต้องเน้นย้ำประชาชนเรื่องมาตรการป้องกัน ลดการเคลื่อนย้าย เฝ้าระวังผู้สูงอายุ และฉีดวัคซีน

กทม.ติดเชื้อเพิ่ม 1,549 คน-พบอีก 2 คลัสเตอร์ใหม่

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า วันนี้ (7 ก.ค.) มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน กทม. 1,549 คน และยังพบคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มอีก 2 แห่ง คือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เขตมีนบุรี ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว 17 คน และโรงงานผลิตจิวเวลรี่ เขตบางนา

นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก กทม. ว่า มีผู้ป่วยสีแดงในพื้นที่ประมาณ 40-50 คนต่อวัน สีเหลือง 200-300 คนต่อวัน สีเขียว 300-400 คนต่อวัน การสะสมใน 2 สัปดาห์ เห็นได้ชัดว่าแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทั้งระดับเขียว-เหลือง-แดงเข้ามา ตัวเลขสะสมในช่วงนี้จึงสูงขึ้นในระดับ 1,000 คน

ขณะที่การส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เจ้าภาพหลักคือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ ศูนย์เอราวัณ มีศักยภาพในการขนผู้ป่วย 500 เที่ยวต่อวัน

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการหารือการจัดการ 2 ส่วน คือ การเพิ่มศักยภาพในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ไปที่ศูนย์บริการที่จะได้รับการดูแล โดยให้ความสำคัญกับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง จะต้องเข้าสู่ระบบทันที ส่วนกลุ่มสีเหลือง ให้มีระยะเวลาคอยน้อยที่สุด อาจจะเป็น 1 วัน นำทุกคนเข้าสู่ระบบ และกลุ่มสีเขียว-สีขาว จะได้รับการจัดสรรให้ไปอยู่ที่ศูนย์พักคอยของ กทม.ก่อน

อีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องการขยายศักยภาพเตียงรองรับ โดยที่ประชุมมีการพูดถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับสูงที่ “สนามบินสุวรรณภูมิ” เพราะผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น ล่าสุดคณะผู้บริหารของ สธ.ได้ลงสำรวจพื้นที่แล้ว หลังจากนี้จะมีการเตรียมความพร้อมของสถานที่ และจะสามารถเปิดรับผู้ป่วยได้ในเดือน ส.ค.นี้ คาดว่าจะรองรับได้ประมาณ 5,000 เตียง ซึ่งจะสำรองเตียงให้ผู้ป่วยวิกฤต 1,360 เตียง ส่วนที่เหลือเป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีเขียว

นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่อง Home Isolation หรือการอนุญาตให้ผู้ป่วยแยกกักและได้รับการดูแลอยู่ที่บ้าน ซึ่งยังถือว่ามีความเสี่ยง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ สิ่งสำคัญต้องมีมาตรการให้ผู้ป่วยประเมินตนเองได้อย่างแม่นยำ มีการวัดอุณหภูมิและค่าออกซิเจน เป็นต้น และบุคลากรต้องติดตามสอบถามผู้ป่วยผ่านเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยด้วยเช่นกัน แต่การจะให้ผู้ป่วยคนใดแยกกักแบบ Home Isolation นั้นต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

การจัดมาตรการรองรับเหล่านี้ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมกับความปลอดภัยของผู้ป่วยแต่ละคน