เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Prayut Chan-o-cha ว่าหลังจากที่ผมได้ประกาศยกระดับการควบคุมสถานการณ์ใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม พร้อมทั้งประกาศเคอร์ฟิวและจำกัดการเดินทาง ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา
วันนี้ ผมได้เรียกประชุม ศบค.เป็นวาระพิเศษ โดยได้เชิญคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อทำการประเมินสถานการณ์และความจำเป็นในการปรับแผนการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงไม่ลดลง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และการหยุดการเคลื่อนตัวของประชาชนยังคงทำได้ไม่มากพอ ทำให้มีการประเมินว่าในระยะต่อไป หากยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น สถานการณ์อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นอีก จนมีผลร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุข
ที่ประชุมมีมติว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางของประชาชนให้มากที่สุด และเพิ่มการปิดสถานที่ต่างๆ ให้เหลือเท่าที่จำเป็น รวมทั้งการออกกฎการทำงานที่บ้านอย่างสูงสุด ซึ่งคณะแพทย์ที่ปรึกษาจะทำการปรึกษาหารืออย่างละเอียดรอบคอบ โดยศึกษาจากรูปแบบการล็อกดาวน์ในประเทศต่างๆ เพื่อทำเป็นมาตรการเสนอต่อ ศบค. อย่างเร่งด่วนเพื่อดำเนินการโดยเร็วที่สุด
ผมขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม และจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ได้เตรียมความพร้อมในการยกระดับการควบคุมการเดินทางที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดในแต่ละจังหวัด โดยให้คงความเข้มงวดแต่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นนี้ ย่อมมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมแผนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไว้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคการคลังของประเทศ
จากการปิดสถานที่ล่าสุดนี้ รัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถจ่ายเงินชดเชยพี่น้องประชาชนได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งการชดเชยผู้ประกอบการและลูกจ้างใน 9 กลุ่มกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม รวมถึงผู้มีอาชีพอิสระด้วย นอกจากนั้นยังได้มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งลดค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นเวลาสองเดือน และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย รวมกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ออกมาตรการเร่งด่วน พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 เดือนให้กับทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง ที่ต้องปิดกิจการ และพิจารณาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ปิดกิจการแต่มีรายได้ลดลง และยังจะมีมาตรการอื่นๆที่พิจารณาโดยเร่งด่วน เช่นการลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษา
ด้านสาธารณสุข ในที่ประชุมวันนี้ ได้รับทราบมาตรการการตรวจหาเชื้อโควิดแบบ Antigen Test Kit ควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองเชิงรุกแบบเดิมที่เร่งดำเนินการอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งการตรวจ Antigen Test Kit นี้ ประชาชนสามารถดำเนินการด้วยตนเองในการตรวจได้เอง ซึ่งจะลดการแออัดในการขอตรวจกับจุดตรวจต่างๆ ซึ่งจะมีกระบวนการในการดำเนินการอย่างชัดเจน หากได้ผลบวก ก็จะมีการตรวจซ้ำกับโรงพยาบาลและจุดตรวจอีกครั้งเพื่อยืนยันผล และแยกรักษาตามอาการ ทั้งการกักตัวที่บ้านหรือศูนย์โควิดชุมชนสำหรับผู้ป่วยสีเขียว และการรักษาที่โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขเชื่อว่าวิธีการนี้จะช่วยลดความแออัดของเตียงผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ลงได้ และรัฐบาลกำลังดำเนินการทุกทางที่จะเพิ่มการรองรับผู้ป่วยในทุกระดับ ทุกพื้นที่
ที่ประชุมยังรับทราบข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะให้มีการจัดฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร คือ Sinovac และ AstraZeneca เป็นแนวทางควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม และการฉีดวัคซีนกระตุ้น (Booster Dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม โดยเข็มที่สามให้เป็น AstraZeneca หรือ Pfizer ที่จะได้รับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือน ก.ค.นี้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการในทรัพยากรวัคซีนที่เรามีอยู่ โดยอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งได้รับการรับรองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของประเทศ และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และรัฐบาลจะเร่งดำเนินการจัดหาวัคซีนจากทุกๆแหล่งที่สามารถทำได้ให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด โดยไม่เคยปิดกั้นการจัดหาวัคซีนทางเลือกจากภาคเอกชน