เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

     เครือข่ายประชาชนรักษ์ต้นไม้ และชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ ,นางอรยา สูตะบุตร ,นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด เข้ายื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และบริษัทอิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้มีคำสั่งให้รฟม. และบริษัทอิตาเลียนไทย รวมทั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องหยุดการตัด ย้าย หรือการกระทำใด ๆ ต่อต้นไม้ที่อยู่ในแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้า 11 สายในกรุงเทพมหานคร จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามหลักวิชาการ กฎหมายที่ชัดเจน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และขอให้ศาลมีคำสั่งให้รฟม. ผู้รับเหมา นำต้นไม้ชนิด ประเภท และขนาดเดียวกันกับที่ตัดโค่น ทำลาย หรือขุดล้อม ย้ายออกไป กลับคืนมาปลูกในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับจุดเดิม หากต้นไม้ที่ย้ายไปตายไปแล้วก็ให้มีการซื้อหามาปลูกทดแทนให้มากขึ้นเป็น10 เท่า

นายศรีสุวรรณในฐานะผู้รับมอบอำนาจในการฟ้องคดี กล่าวว่า เนื่องมาจากบริษัทอิตาเลียนไทยได้รับสัมปทานก่อกสร้างโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต สะพานใหม่ คูคต โดยเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้มีการตัดต้นไม้บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 14 ต้นอย่างผิดวิธีและไม่ได้มีการขออนุญาตในการตัดจากกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นการกระทำขัดต่อพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง 2535 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 รวมถึงรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ซึ่งก่อนหน้านี้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ- รังสิต ก็มีตัดและล้อมย้ายไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ทำให้เกิดความเสียหายและเมื่อนำไปแล้วก็ไม่มีการบำรุงรักษาจนต้นไม้ทยอยยืนแห้งตาย ประกอบกับไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จจะมีการนำต้นไม้เดิมกลับมาปลูก หรือปลูกอื่นทดแทนในจำนวนเท่าเดิมก่อนการก่อสร้างหรือไม่ จึงเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมากจึงต้องฟ้องต่อศาลปกครอง

ด้านน.ส.ช่อผกา กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในประเทศอื่นๆ ล้วนมีการรักษาต้นไม้ใหญ่ ให้อยู่คู่กับเมือง ดังนั้นคนกรุงเทพจึงไม่จำเป็นต้องเลือกหรือแลก แต่เราสามารถมีได้ทั้งความเจริญจากรถไฟฟ้าและเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติจากต้นไม้ในเมือง ก่อนหน้านี้เครือข่ายต้นไม้ในเมืองได้เคยร้องเรียนเรื่องการตัดต้นไม้ผิดวิธีในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ไปยังกรุงเทพมหานคร จนเกิดการนำนักวิชาการด้านการล้อมต้นไม้มาให้ความรู้กับผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกราย แต่เพียง 2 เดือนถัดมาบริษัทอิตาเลียนไทย ก็ตัดต้นไม้ผิดวิธีที่หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าทั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างและรฟม.เจ้าของสัมปทานยังไม่มีแนวปฏิบัติต่อต้นไม้ในเมืองที่ถูกต้องดีพอ จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้อำนาจศาลคุ้มครองต่อการกระทำหรือการใช้อำนาจของรฟม. และบริษัทอิตาเลียนไทย

Cr:มติชนออนไลน์