คุณคอนเน่ (นามสมมติ) กล่าวว่า วันที่ 21 มีนาคม พี่สาวตนเองสงสัยว่าติดโควิด 19 จึงตรวจ ATK ผลคือขึ้น 2 ขีด จึงโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 1330 เพื่อขอคำปรึกษาและขอรับยา รักษาตัวที่บ้าน แต่ทางเจ้าหน้าที่ประเมินว่า มีความเสี่ยงต่ำในการติดเชื้อ เรื่องนี้ทำให้พี่สาวงงว่า จะมีความเสี่ยงต่ำได้ยังไง เพราะ ATK ก็ขึ้น 2 ขีด และมีอาการแล้ว
ต่อมาพี่สาวตนจึงไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนตามสิทธิประกันสังคม พอไปถึงโรงพยาบาลบอกว่า จ่ายยาให้ผู้ป่วยได้วันละ 100 ชุดเท่านั้น ถ้าหากมารับยาต้องต่อคิวตั้งแต่เช้ามืด วันนั้นจึงทำได้แค่ตรวจ RT-PCR ซึ่งอาการพี่สาวตอนนั้นคือ ไอมาก มีเสมหะ อ่อนเพลียมาก จึงกลับบ้าน และกินยาสามัญประจำบ้านแทน

ภาพจาก NikomMaelao Production / Shutterstock.com
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
กระทั่งวันที่ 24 มีนาคม พี่สาวไอมากขึ้นจนไม่มีเสียง ต้องการใบรับรองแพทย์มายื่นลางานที่บริษัท พี่สาวจึงตัดสินใจไปต่อคิวรับยาอีกครั้ง วันนั้นไปรอตั้งแต่ตี 4 แต่คิวก็ยังเต็ม จากนั้นพยาบาลมาแนะนำว่า ให้ไปซื้อยาข้างนอกมากินเอง ยาน่าจะดีกว่า ถ้าหากต้องการยาฟาวิพิราเวียร์ รักษาโควิด 19 สามารถซื้อได้เม็ดละ 300 บาท
ในตอนแรก พี่สาวก็สนใจ แต่เมื่อรู้เงื่อนไขว่า ต้องซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งหมด 50 เม็ด มูลค่า 15,000 บาท ก็ตกใจมาก เพราะที่เคยดูในข่าว ยานี้ไม่เสียเงิน และตัวเองก็ใช้สิทธิตามประกันสังคม จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงมีการขายยาแบบนี้ อยากให้ภาครัฐแก้ปัญหา ทั้งที่มีสิทธิประกันสังคม เสียเงินให้ทุกเดือน แต่พอป่วยกลับไม่ได้ยาแม้แต่เม็ดเดียว จำกัดการจ่ายยาที่ 100 ชุด ทั้งที่ผู้ป่วยมีมากแท้ ๆ