เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

สมัยไหนแล้ว !เลิกโบราณ!

กับเศษฐกิจนี้เวลานี้รายได้แบบนี้ เงินเดือนอันน้อยนิด ทุกอย่างแพง แล้วลูกหลานท่ายยังต้องมาจ่ายชุดนักเรียนแพงๆ ค่าตัดผมเครื่องแบบอื่นๆ และอีกอย่างสมัยนี้มันก็ผ่านมาไกลกว่าทรงผมนักเรียนหรือเปล่า ถึงเวลาแล้วไหมที่เราต้องคิดทบทวนว่ากฎบางกฎควรยกเลิกบ้าง เวลา 19.00 น. วันที่ 7 มิ.ย. 2565 ข่าวสดออนไลน์ จัดรายการ “ข่าวจบ คนไม่จบ” ผู้ดำเนินรายการ อั๋น ภูวนาท คุนผลิน และ แขกคำผกา ในหัวข้อ “เห็นด้วยหรือไม่ บังคับใส่ชุดลูกเสือ-เนตรนารี และการตัดผมนักเรียน” 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

อั๋น ภูวนาท กล่าว “มีคนไปสำรวจราคาชุดลูกเสือ-เนตรนารี หากจะใช้แบบครบชุดมีราคารวมสูงถึง 2,680 บาท เช่น เสื้อ 400 บาท กางเกง 420 บาท หมวก 2 ใบ 240 บาท เข็มขัด 160 บาท ผ้าพันคอ 60 บาท ถุงเท้า 100 บาท ค่าปักและธง 240 บาท อีกชุดเป็นเสื้อ 430 บาท และกางเกง 470 บาท อุปกรณ์อื่นๆ 160 บาท รวมกว่า 2,000 บาท จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่ต้องใส่เครื่องแบบได้หรือไม่ ไม่ได้กังขาว่าดีหรือไม่ดี เพราะคิดว่าตัววิชามันดี”

คำผกา กล่าวอีก “ต่อให้เรามีเงิน 2,600 บาท ตอนนี้เติมน้ำมันยังไม่เต็มถังเลย ถ้าเราเป็นพ่อแม่ชนชั้นกลาง สมมติมีเงินเดือนรวมกัน 50,000-60,000 บาท ถือว่าค่อนข้างเยอะในมาตรฐานสังคมไทย ถ้ามีลูก 2 คน ผ่อนรถ 1 คัน ผ่อนบ้าน 1 หลัง ค่าอาหารสำหรับคน 4 คน ผ่อนรถ 8,000 บาทผ่อนบ้าน 9,000-10,000 ค่าเทอมลูก ค่าไปโรงเรียนลูก 2 คน ค่าเรียนพิเศษ ค่ากิจกรรมเสริมต่างๆ ค่าเดินทาง เงินเดือนรวมกันแค่นี้คือติดลบ”

คำผกา กล่าวต่อ “สำหรับตนจะไม่พูดเรื่องยกเลิกเครื่องแบบลูกเสือหรือเนตรนารี แต่เรามาเจอกันครึ่งทางได้ไหม ปรับเครื่องแบบลูกเสือกับเนตรนารี ให้เป็นเครื่องแบบที่เด็กสามารถปรับใช้ได้ในโอกาสอื่นๆ เช่นแทนที่จะเป็นชุดสีกากี เสื้อผ้าหนาๆ ที่ใส่แล้วร้อนมาก ทั้งถุงเท้า รองเท้า หมวก ผ้าพันคอ ซึ่งมันไม่ได้ใช้ เราเปลี่ยนเป็นเสื้อโปโลสีกากีหรือสีเขียวอะไรก็ได้ ที่เราคิดว่าเป็นสีประจำของลูกเสือหรือเนตรนารี”

 

คำผกา กล่าวอีก “ส่วนกางเกงก็เป็นกางเกงพละที่เด็กมีอยู่แล้ว ไม่ต้องมีถุงเท้าพิเศษออกไป ใส่รองเท้าผ้าใบที่เด็กใส่ไปเรียนอยู่แล้ว มีผ้าพันคอ 1 ผืนไว้เผื่อทำกิจกรรมจิตอาสา มีสติ๊กเกอร์ที่รีดติดเสื้อเล็กๆ เป็นสัญลักษณ์ ไม่ต้องเป็นเข็ม แล้วเสื้อโปโลตัวนี้ใส่ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งสามารถส่งต่อให้น้องใส่ได้อีก เสาร์อาทิตย์เด็กก็สามารถใส่เสื้อตัวนี้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้”

คำผกา “กล่าวต่อว่า สมมติถ้าเราจ่ายค่าเสื้อโปโล 400 บาท เด็กใส่ได้ในหลายโอกาส ใส่จนคุ้มเงิน 400 บาท ตนคิดว่าผู้ปกครองจะไม่มีปัญหา สำหรับการจะมียูนิฟอร์มลูกเสือหรือเนตรนารี เพราะคุณค่าของวิชาลูกเสือหรือเนตรนารี ไม่ได้อยู่ที่ยูนิฟอร์ม”

คำผกา กล่าวอีก  “ยูนิฟอร์มนี้มีมาตั้งแต่เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ที่มีการก่อตั้งลูกเสือที่อังกฤษ ซึ่งเป็นแฟชั่นของคนยุคล่าอาณานิคมที่รับเข้ามาในไทย ยุคนั้นต้องมีชุดซาฟารี เดินทางไกลในป่า ต้องไปดูช้างดูยีราฟ เป็นชุดของแอฟริกา แต่พอมายุคนี้ โลกมันเปลี่ยนไปมาก กิจกรรมในชีวิตเปลี่ยนไป เราก็น่าจะปรับโดยที่ยังคงคุณค่าและความหมายของ 2 วิชาเอาไว้ให้กับเด็ก”

คำผกา กล่าว “เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรียนในวิชาลูกเสือเนตรนารี เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น บำเพ็ญประโยชน์ เราออกไปหาประสบการณ์ รู้จักชีวิตของคนอื่น รู้จักความลำบากของคนอื่นเวลาไปช่วยเขา คอนเซ็ปต์ของลูกเสือเนตรนารีคือการบำเพ็ญประโยชน์จริงๆ คือการร่วมทุกข์ร่วมสุขของคนในสังคม ถ้าเราไม่รู้จักความทุกข์ความลำบากของคนในสัง เราก็ไม่มีความเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย สิ่งเหล่านี้ควรถูกปลูกฝังในวิชาลูกเสือเนตรนารี”

ฝ่าย อั๋น ภูวนาท กล่าว “ล่าสุดพอมีประเด็นนี้ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ก็ออกมาตอบโต้ได้เร็ว เป็นการพูดถึงกฎอันนึงที่กระทรวงออกมาตั้งนานแล้ว ซึ่งระบุว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหาร ชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่นๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ในวันใดให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัดและความเหมาะสม ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุพิเศษให้สถานศึกษา พิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียนได้ตามความเหมาะสม แปลว่า แม้แต่ชุดนักเรียน ยังสามารถยกเว้นได้เลย แปลว่าใส่อะไรก็ได้ ถ้ายึดตามเกณฑ์นี้”

คำผกา กล่าวเสริม “เมื่อพูดถึงเหตุจำเป็นหรือความเหมาะสม พอมาอยู่ในวัฒนธรรมไทย จะเป็นการผลักภาระ ผลักดุลพินิจ ผลักความรับผิดชอบให้กับผู้บริหารการศึกษา ผลักภาระให้ ผอ. ท้ายที่สุด ผอ. ก็จะดูว่าแนวโน้มการคงไว้ซึ่งยูนิฟอร์มหรือแนวโน้มที่จะละทิ้งยูนิฟอร์ม อะไรที่จะถูกใจผู้บังคับบัญชามากกว่า”

“โรงเรียนโดยเฉพาะในสังคมไทย เป็นที่บ่มเพาะการเรียนรู้เรื่องอำนาจนิยม ปลูกฝังอุดมการณ์ทางอำนาจโดยใช้สถาบันต่งาๆ ในสังคมสมัยใหม่เป็นเครื่องมือที่จะถ่ายทอดอุดมการณ์ว่าด้วยอำนาจของรัฐไปสู่พลเมือง 1.คือเรือนจำ ทัณฑสถาน เพราะเป็นสถานที่สาธิตเรื่องบทลงโทษว่าถ้าคุณทำผิดจะเกิดการลงโทษอะไร อยู่ในระเบียบวินัยยังไง และมีการสอดส่องตรวจตราความประพฤติจากบรรดาผู้คุม”

คำผกา กล่าวอีกว่า “นักโทษจะมองไม่เห็นผู้คุม แต่ผู้คุมมองเห็นนักโทษ แล้วทั้งหมดกระทำผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมเมื่อนักโทษใช้ชีวิตในส่วนต่างๆ แล้วมีผู้คุมคอยสอดส่อง เวลานักโทษมองไม่เห็นผู้คุม สิ่งที่ต้องทำคือต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่ามีคนจับจ้องเราอยู่ตลอดเวลา และไม่รู้ว่าเขาจะมาเห็นว่าคุณทำผิดในนาทีไหนใน 24 ชั่วโมงที่คุณมีชีวิตอยู่”

คำผกา กล่าวต่อ “สถาปัตยกรรมอันนี้ใช้ในอีกเครื่องมือหนึ่งของรัฐคือโรงเรียน นี่คือเครื่องมือของรัฐสมัยใหม่ คือ 1.คุก 2.โรงเรียน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กันทั่วโลก โรงเรียนคือสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะถ่ายทอดอุดมการณ์อำนาจการควบคุมพลเมือง โดยที่ไม่ต้องเอาตำรวจมาควบคุมเราตลอดเวลา”

คำผกา กล่าวอีก “โรงเรียนจะทำให้คุณตระหนักในอำนาจของผู้ปกครองที่คุณจะต้องเชื่อฟัง ผ่านระเบียบ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ที่เรารู้สึกมันไร้สาระ จริงๆ แล้วมันเป็นตัวแทนอำนาจรัฐที่จะมาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา แต่โลกตะวันตกได้ตระหนักว่าการใช้อำนาจแบบนี้มันหมดยุคแล้วก็มีการปรับทัณฑสถาน เรือนจำก็ปรับ ปฏิรูปสถาปัตยกรรมเรือนจำในยุโรป รวมทั้งโรงเรียนก็ปรับกระบวนใหม่ เอาความป็นอำนาจนิยมออกไป เอาความเป็นฟาสซิสต์ นาซีออกไป”

“แต่มรดกอันนี้มันตกค้างอยู่ในโรงเรียนไทยที่ยังต้องการให้เด็กซึมซับเอาสิ่งที่เรียกว่าอำนาจไว้กับตัวเอง กลัวต่ออำนาจ จำนนต่ออำนาจ ผ่านพิธีกรรมว่า ถ้าผมยาวปุ๊บ คุณจะถูกประจาน ถูกถ่ายรูป ทำให้อับอาย ผ่านการลงโทษแบบนี้ แล้วคนเวลาถืออำนาจอยู่ในมือมันสนุก ครูได้มีอำนาจเหนือเด็ก ทำให้เด็กไม่มีอำนาจที่จะดูแลตัวเองหรือบริหารร่างกายของตัวเองตามจินตนาการในฐานะผู้ใหญ่คนนึง”

“เมื่อเราจบจากโรเงรียน จบจากมหาวิทยาลัย เรากลายเป็นประชาชน เราก็จะกลายเป็นประชาชนที่คุ้นเคยกับการจำนนต่ออำนาจของผู้ใหญ่ ไปรับราชการก็กุมมือ เจอผู้บังคับบัญชาจะรู้สึกว่าต้องทำตามคำสั่ง ไม่มีการตั้งคำถาม ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมนุษย์ มันชินแล้วกลืนกินเข้าไปจนเรารู้สึกว่าสิ่งนี้คือความถูกต้องชอบธรรม โดยที่เราไม่ตั้งคำถามกับมันเลย แล้วใครที่ตั้งคำถามจะดูผิดปกติ เป็นคนก้าวร้าว”

“สิ่งนี้แม้กระทรวงศึกษาฯ จะบอกว่าไม่ได้บังคับ แต่โรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนรัฐบาลทั้งหมดไม่ยอมยกเลิก เพราะกลัวจะสูญเสียเครื่องมือของการสร้างการตระหนักรู้เรื่องลำดับชั้นต่ำสูง และจะทำให้เกิดสังคมที่เสมอภาค ซึ่งมันเป็นภัยคุกคามต่อผู้อาวุโส”

คำผกา กล่าวอีก “หากเราสังเกตโรงเรียนที่รอดพ้นจากภาวะอำนาจนิยมเหล่านี้ อย่างโรงเรียนสาธิต โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชนแพงๆ หลายแห่ง เพราะคนเหล่านี้คือคนที่ครองอำนาจอยู่แล้ว เหมือนการปกครองของอังกฤษในอินเดีย ถ้าเป็นโรงเรียนคนพื้นเมืองเขาฝึกคนให้มาเป็นข้าราชการของเจ้าอาณานิคม เขาจะฝึกให้เชื่อฟังและเป็นขี้ข้าตลอดไป แต่เจ้าอาณานิคมไปได้รับการศึกษาอีกระดับหนึ่งเพื่อมาปกครองคนพวกนี้ แล้วจะบริหารได้ง่ายๆ เพราะคนพวกนี้ไม่มีปากเสียง”

คำผกา กล่าวต่อว่า “ตนพูดมาตลอดว่า ระบบโรงเรียนในสังคมไทย มี 2 ระบบ ระบบหนึ่งคือเจ้าอาณานิคมคือโรงเรียนอินเตอร์ กับโรงเรียนสาธิตเก่งๆ ทั้งหลายที่เสรีนิยมมาก ไม่ต้องมีชุดลูกเสือ มีทุกอย่างที่ดีก้าวหน้ามาก แต่ถามว่ามีคนได้เข้าโรงเรียนเหล่านี้ถึง 1% ของประชากรทั้งประเทศไหม ท้ายที่สุดคนที่จบจากโรงเรียนพวกนี้ก็จะกลายเป็นชนชั้นสูง แล้วกลายเป็นผู้บริหาร ส่วนเด็กโรงเรียนวัด หรือเด็กบ้านนอกทั้งหลายก็จะเรียนมาในระบบที่จำนนต่ออำนาจ เรียนจบเป็นช้าราชการอยู่ภายใต้ผู้บริหารที่จบจากโรงเรียนชนชั้นสูง ก็จะเป็นพนักงานที่เชื่อฟัง มันเป็นสองระบบในหนึ่งประเทศ”

ฝ่าย อั๋น ภูวนาท กล่าวเสริม “ในมุมของตนตอนแรกคิดว่ากฎมันก็ทันสมัยใช้ได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ภาวะผู้นำของแต่ละโรงเรียน เมื่อย้อนกลับไปก็คิดได้ว่าภาวะผู้นำของแต่ละโรงเรียนที่ยังเลือกปฏิบัติกับเด็กแบบนี้ เพราะว่าเขาไม่กล้าที่จะยืนหยัดขึ้นมาเป็นภาวะผู้นำ เพราะชินกับการถูกกดมาเหมือนกัน เลยไม่กล้าพอและรู้สึกว่าไม่สามารถทำได้ กลัวในสิ่งที่เขาก็ไม่รู้ ถ้าเราไปยืนอยู่ตรงนั้น เราอาจจะกลัวเหมือนกัน เพราะในประเทศนี้จะมีอำนาจทั้งในระบบและนอกระบบแทรกแซงเข้ามา เรายังเห็นข่าวเรื่องการตัดผมแบบนี้ จนตนสงสัยว่าครูหรือโรงเรียนต่างๆ ไม่ได้ยึดตามกฎระเบียบ”

คำผกา กล่าวเพิ่มเติม “ตนคิดว่ากระทรวงศึกษาฯ ต้องมีกระดูกสันหลังมากพอที่จะประกาศไปเลยว่าไม่มียูนิฟอร์มอีกต่อไป และโรงเรียนไหนจะมียูนิฟอร์มไม่ผิดกฎหมาย จะเป็นตัวเลือกของพ่อแม่ ถ้าโรงเรียนไหนมียูนิฟอร์มแล้วชอบก็เอาลูกไปโรงเรียนนั้น แต่ถ้าไม่มียูนิฟอร์มก็ไม่เป็นไร ส่วนทรงผมก็ไม่จำกัด แต่เอาตามความพอใจของผู้ปกครองและครูที่ตกลงร่วมกัน ถ้าใครตัดผมเด็กโดยพลการจะโดนลงโทษ เพราะคุณไม่มีสิทธิไปกระทำเช่นนั้นกับร่างกายของผู้อื่น เด็กก็เป็นประชาชนเหมือนคุณ คุณไปละเมิดได้ยังไง”