เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

มกอช. หนุนชัยนาท เดินหน้าโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร ยกระดับการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตร

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้สมุนไพรในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความสนใจในการดูแลรักษาสุขภาพ ด้วยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ประกอบกับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้พืชสมุนไพรมีกระแสเป็นที่ต้องการและเป็นทางเลือกในการรักษาและบรรเทาโรค ทั้งในรูปแบบของยาและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยอุตสาหกรรมสมุนไพรได้รับการคาดการณ์ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศได้ ในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ รวมถึงเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมุนไพรต่อยอดทั้งด้านการรักษาและผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและทำให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยขับเคลื่อนผ่านโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal city) จังหวัดชัยนาท เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตพืชสมุนไพร โดยกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดคือ “ชัยนาทเมืองสมุนไพร” เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิต เพิ่มมูลค่าและการตลาดสินค้าเกษตรด้านพืชสมุนไพร มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้มาตรฐาน โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานระดับต้นทาง กลางทางและปลายทาง อาทิ การส่งเสริมการปลูกสมุนไพร การรับรองมาตรฐานแปลงปลูก GAP/Organic การพัฒนากระบวนการแปรรูปสมุนไพรมาตรฐาน GMP การสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งโรงพยาบาลสรรคบุรี เป็นแหล่งรับวัตถุดิบสมุนไพรจากกลุ่มผู้ปลูกเพื่อนำมาแปรรูป และผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาจากสมุนไพร เพื่อกระจายให้กับโรงพยาบาลจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง

ทั้งนี้ มกอช. ให้ความสำคัญของการผลิตสมุนไพรให้ได้มาตรฐานและบูรณาการร่วมกับระหว่างหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนแผนการพัฒนาจังหวัดชัยนาทในการเป็นเมืองสมุนไพร จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง มาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับพืชสมุนไพร ภายใต้โครงการส่งเสริมและยกระดับการผลิตสมุนไพรต้นแบบตามมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรผู้ผลิตพืชสมุนไพรในพื้นที่จังหวัดชัยนาท เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจเกณฑ์กำหนดของมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร (GAP) รวมถึงมาตรฐานพืชสมุนไพรแห้ง การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างปลอดภัย การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ตลอดจนระบบตามสอบสินค้าเกษตร (QR Trace) และตลาดออนไลน์ (DGTFarm)

สำหรับวัตถุดิบที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นหัวใจสําคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีคุณภาพดี มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ ซึ่งปัจจุบันมีการสนับสนุนให้ปลูกสมุนไพรเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัญหาด้านมาตรฐานคุณภาพวัตถุดิบ ทั้งด้านองค์ประกอบทางเคมีที่ไม่สม่ำเสมอ การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ โลหะหนักและสารพิษจากเคมีเกษตร ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มกอช. จึงได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร ซึ่งครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตพืชสมุนไพร ทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตในแปลงปลูกถึงการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้วัตถุดิบพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพและปลอดภัย เหมาะสมสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรและครอบคลุมการผลิตวัตถุดิบพืชสมุนไพรที่จำหน่าย ในรูปผลิตผลสด และพืชสมุนไพรที่ผ่านการลดความชื้น ทั้งพืชสมุนไพร (Herbs) ที่ใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร (Herbal Product) และได้ส่งเสริมการนำมาตรฐานไปปฏิบัติใช้ หากเกษตรกรมีความพร้อมที่จะขอการรับรอง จะทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชสมุนไพร และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่นางประกอบ เฮง ประธานกลุ่มสมุนไพรปลอดสารพิษบ้านใหญ่ ตำบลโพงาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า “จากเดิมเกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นอาชีพหลัก ซึ่งมีรายได้น้อยและทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้สิน จึงได้มีการส่งเสริมให้ทำอาชีพเสริมโดยการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อให้มีรายได้พอใช้จ่ายในครัวเรือนและต่อมาได้มีการรวมตัวเป็นกลุ่มสมุนไพรปลอดสารพิษบ้านใหญ่ ซึ่งเริ่มต้นมา 6 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 80 ราย สำหรับสมุนไพรหลักที่ปลูก ได้แก่ ไพล ขมิ้น ตะไคร้ ใบมะกรูด และกระทือ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหาร โดยมีตลาดหลัก คือ โรงพยาบาลสรรคบุรี ซึ่งจะส่งวัตถุดิบสมุนไพรให้ทางโรงพยาบาลเพื่อนำไปผลิตยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ โดยสมาชิกบางรายสามารถสร้างรายได้ถึง 2-3 หมื่นบาท/เดือน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้สินลดลง และมีสุขภาพที่ดีขึ้น เนื่องจากลดการใช้สารเคมีและในอนาคตทางกลุ่มได้เตรียมที่จะขอการรับรอง GAP สำหรับพืชสมุนไพร และจะขยายผลความสำเร็จให้กับสมาชิกรายอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

“ปศุสัตว์” ปรับร่างยุทธศาสตร์ 

#ชาวบ้าน #ร้องเรียน #กลุ่มวัยรุ่น #มั่วสุม กลางป่า ตำรวจ มาตรวจสอบ เจอสร้างเป็น #รังรัก ถุงยางเกลื่อน