เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

สมช.ตั้งกรรมการ 2 ชุด หวั่นวิกฤติพลังงานกระทบเศรษฐกิจ เคาะแผน 3-12 เดือน ต่อแผนลดค่าครองชีพหลังครบก.ย.ให้กลุ่มเปราะบาง เล็งคุยกัมพูชาพัฒนาแหล่งพลังงานเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเล “พลังงาน” ทำตัวเลขทยอยปรับเพดานดีเซลอุ้มเฉพาะกลุ่ม หวั่นกองทุนติดลบสิ้นปี 2 แสนล้าน

วิกฤติพลังงานกำลังเป็นระเบิดลูกใหญ่สำหรับเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องมอบหมายสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือกับสถานการณ์ โดยที่ประชุม สมช.วานนี้ (4 ก.ค.) หารือกันนานกว่า 3 ชั่วโมงเพื่อวางแผนรับมือวิกฤติพลังงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดภายหลังเป็นประธานการประชุม สมช.ว่า ที่ประชุมในครั้งนี้ได้พิจารณาแผนรับมือวิกฤติพลังงานและอาหารที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยแผนรองรับจัดทำครอบคลุมใน 3 ระยะคือระยะสั้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ก.ค.-ก.ย.ระยะ 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อเตรียมการรองรับไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะต่อไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการกระทบกับเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ได้แก่

1.คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยจะทำหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่นำเอาหน่วยงานเศรษฐกิจเข้ามาประชุมหารือร่วมกัน

2.คณะกรรมการเฉพาะกิจติดตามประมวลผลวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาทุกมิติ และจัดทำแผนรองรับทุกด้านตามวิกฤติการณ์ในอนาคตด้วย โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง อาจเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดจะเสนอ ครม.วันนี้ (5 ก.ค.)

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการพิจารณาแผนระยะสั้นในระยะ 3 เดือนได้พิจารณาถึงการต่อมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ดำเนินการอยู่ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.2565 โดยจะทำการพิจารณาต่อไปจนถึงเดือน ธ.ค.2565 และต้องพิจารณาด้วยว่าจะต้องเพิ่มเติมมาตรการใดอีกบ้าง หรือว่าอะไรที่จะยุติลงรวมทั้งต้องพิจารณารวมไปด้วยว่ารัฐบาลจะใช้เงินจากไหนมาดำเนินการ หากมีการกู้เงินมากขึ้นอีก ก็จะต้องระวังเรื่องการก่อหนี้สาธารณะและเป็นภาระทางการคลังในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตามต้องดูว่ามาตรการ 3 เดือนจะต่อมาตรการอะไรให้ได้มากแค่ไหนที่จะให้ถึงเดือน ธ.ค.นี้ จะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมอีก ซึ่งยืนยันที่จะดูแลให้เต็มที่เท่าที่จะทำได้ โดยขณะนี้หลายประเทศมีปัญหามากกว่าไทยและทุกรัฐบาลก็แก้ไขปัญหากันอยู่ และระยะต่อไปหากเศรษฐกิจดีขึ้น รวมถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวดีขึ้น จะต้องมาดูว่าจะดูแลต่ออย่างไรและต้องมีการจำกัดการช่วยเหลือหรือไม่

“หากในช่วง 6 เดือนสถานการณ์ดีขึ้นก็ลดมาตรการช่วยเหลือลง สิ่งสำคัญวันนี้ขอให้ช่วยกันประหยัดพลังงานและใช้เท่าที่จำเป็น ผมขอร้อง ผมเองก็ใช้เท่าที่จำเป็น ผมอยู่ในฐานะผู้บริหารก็ไม่สบายใจและพยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ถกกัมพูชาพัฒนาแหล่งพลังงาน

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการจัดหาพลังงานเพิ่มเติมทั้งจากในประเทศและการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะในอนาคตการนำเข้าพลังงานจากพื้นที่ห่างไกลอาจทำได้ยากจากความขัดแย้งที่มีอยู่ โดยในประเทศไทยได้สั่งการให้จัดหาแหล่งพลังงานเพิ่มในพื้นที่อ่าวไทย รวมทั้งพื้นที่อื่นๆทั้งทางบกและทะเล รวมทั้งให้หารือกับต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความมั่นคงของประเทศและของภูมิภาคอาเซียนด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชาหรือไม่  อย่าไปเรียกว่าพื้นที่ทับซ้อนเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเขตแดนแต่เป็นเรื่องของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจร่วมกัน อาจจะเป็นการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเล ซึ่งจะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งทางพลังงานและทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องมีการหารือเรื่องนี้กันต่อไป ส่วนจะทำหรือไม่ต้องดูในเรื่องของความจำเป็นในวันนี้ด้วย

สำหรับมาตรการประหยัดพลังงานนั้นในเรื่องของ Work from home ก็ต้องดูว่าทำงานที่บ้านจริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาไปหมด เพราะงานบางอย่างการทำงานที่กระทรวง หรือที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่สั่งการก็สำคัญ​

“วันนี้ได้เอากฎหมายมาพิจารณาทั้งหมดว่ามีกฎหมายใดทำได้หรือทำไม่ได้ จากความเห็นในที่ประชุมและข้อเสนอต่างๆ หลายอย่างมีข้อกังวล ข้อห่วงใย มีการหารือกันอย่างรอบคอบ ซึ่งคณะทำงานที่ตั้งขึ้นจะไปหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม หลังจากนั้นทั้งหมดจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ชงแผนความมั่นคงพลังงาน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในการจัดทำแผนรองรับวิกฤติพลังงานนั้นกระทรวงพลังงานได้มีการจัดทำแผนรองรับวิกฤตอยู่แล้วเป็นประจำทุกปี โดยพิจารณาจากปัจจัยและข้อเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยได้มีการจัดส่งแผนให้กับทาง สมช.เพื่อประกอบการจัดทำแผนในครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้เพิ่มเติมในเรื่องของการทำให้พลังงานทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า และก๊าซไม่ขาดแคลน แม้จะมีเรื่องของราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกก็ตาม

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่าในการประชุม สมช.ในครั้งนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องของการบังคับใช้ข้อกฎหมายในเรื่องต่างๆ โดยในส่วนของประเด็นโรงกลั่นนั้นมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในที่ประชุมแต่ว่าแนวทางยังเป็นเหมือนเดิมคือการขอความร่วมมือจากโรงกลั่นในการส่งเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ส่วนที่กระทรวงพลังงานส่งหนังสือมาสอบถามแนวทางข้อกฎหมายในการส่งกำไรของโรงกลั่น เข้าสู่กองทุนน้ำมันฯนั้น ล่าสุดหนังสือจากปลัดกระทรวงพลังงานเพิ่งจะมาถึงที่สำนักงานกฤษฎีกา โดยจะมีการตอบความเห็นกลับไปยังกระทรวงพลังงาน โดยใช้เวลาไม่กี่วันในการตอบข้อกฎหมายในเรื่องนี้

หวั่นกองทุนติดลบ2แสนล้าน

ข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 3 ก.ค.2565 ติดลบ 107,601 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 69,718 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 37,883 ล้านบาท โดยอัตราการติดลบสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2564 และมีการติดลบแบบก้าวกระโดดตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครนเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2565 และทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไต่ระดับเกินบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ ซึ่งนับตั้งแต่เกิดสงครามทำให้สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบเพิ่มขึ้นประมาณ 80,000 ล้านบาท ในช่วง 4 เดือน เศษ

กองทุนน้ำมันแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมามากติดลบเกิน 100,000 ล้านบาท และหากปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ต่อไป โดยไม่มีมาตรการใดเพิ่มคาดว่าสิ้นปี 2565 กองทุนน้ำมันอาจติดลบถึง 200,000 ล้านบาท จากการที่ต้องอุดหนุนดีเซลวันละ 66-67 ล้านลิตร ล่าสุดอุดหนุนลิตรละ 7-8 บาท”

แหล่งข่าว กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสั่งให้กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ร่วมหารือและทำเป้าหมายของการลดการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่เป็นวงกว้าง เพื่อปรับรูปแบบการช่วยเหลือไปเน้นช่วยเหลือลดค่าครองชีพด้านพลังงานเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยจะลดภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนน้ำมันลง ซึ่งเท่าที่ดูข้อมูลจะแบ่งการช่วยเหลือในหลายระดับโดยยืนยันว่ากระทรวงพลังงานทำงานเต็มที่

คงเพดานราคาดีเซล35บาท

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้คงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนในช่วงนี้ ซึ่งเป็นการตรึงราคาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังมีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยราคาน้ำมันดีเซลเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2565 อยู่ที่บาร์เรลละ 172.77 ดอลลาร์ เนื่องจากความต้องการมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อ เนื่องจากสหรัฐและการผ่อนคลายมาตรการของจีนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในนครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่งกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

รวมทั้งกลุ่มโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันมากกว่าเดิมในปลายเดือน มิ.ย.2565 และราคาดีเซลเริ่มปรับตัวลดลงเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2565 อยู่ที่ 155.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวหลังธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐที่มีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 3.4% ในปลายปี 2565 จากปัจจุบันที่ 1.50-1.75%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง