เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.65 ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะโฆษก กทม. แถลงสรุปผลงานในรอบ 30 วันของผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่า การทำงานของผู้ว่าฯชัชชาติในรอบ 30 วันที่ผ่านมา เป็นบุคลิกและตัวตนของผู้ว่าฯชัชชาติที่เข้าถึงง่าย และติดดิน ขณะเดียวกันการไลฟ์สดในการลงพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเห็นปัญหาไปพร้อมกัน ซึ่งเมื่อพบปัญหา ในเช้าวันรุ่งขึ้นจะเห็นได้ว่าปัญหาต่างๆเหล่านั้นได้รับการแก้ไขโดยที่ไม่ได้มีการสั่งการ ทั้งนี้รอบ 30 วันมี 4 เรื่องเร่งด่วนที่ดำเนินการไปแล้ว ประกอบด้วย 1.การขุดลอกท่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พื้นที่กรุงเทพฯ มีท่อระบายน้ำความยาว 6,564 กม. ปีนี้ตั้งเป้าลอกท่อระบายน้ำ 3,390 กม. ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 2,387 กม. คิดเป็น 74.4% และคาดว่าจะสำเร็จในเร็วๆนี้ เพราะได้รับความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์

2.เรื่องความปลอดภัยทางถนนและทางม้าลาย ในเดือน ก.ย.นี้ จะติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือน 80 จุด แบ่งเป็นไฟกะพริบ 50 จุด และปุ่มกด 30 จุดที่บริเวณทางม้าลาย 80 จุด นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ประจำจุดทางข้ามหน้าโรงเรียน (School Care) ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยผู้ว่าฯ กทม. สั่งเพิ่มให้ครบ ร.ร.สังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง

3.หาบเร่แผงลอย อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ เพื่อให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ได้ทำการค้าขาย โดยมีพื้นที่สาธารณะ 198 จุด และพื้นที่ของภาครัฐและเอกชน 124 จุด ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้ผู้ค้าลงทะเบียน รวมทั้งลดอัตราค่าเช่าแผงค้า 50% และลดดอกเบี้ยสถานธนานุบาล เป็นเวลา 3 เดือน

4.สัมปทานสายสีเขียว ได้มีการประชุมร่วมกับนายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ที่มีข้อสรุปให้จัดเก็บเริ่มเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อนำรายได้มาจ่ายดอกเบี้ยและค่าจ้างเอกชนเดินรถ ตลอดจนการเปิดเผยตัวสัญญา ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540

ในขณะเดียวกันผู้ว่าฯ กทม. ได้ประกาศนโยบายโปร่งใสอย่างชัดเจน โดยได้ประกาศนำงบประมาณประจำปี 2566 ขึ้นบนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนรับทราบ นอกจากนี้ นโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ขณะนี้ได้รับการประสานจากหน่วยงานต่างๆที่จะร่วมปลูกต้นไม้แล้ว 1.3 ล้านต้น ขณะที่การรายงานปัญหาเส้นเลือดฝอย ผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ คนกรุงเทพฯรายงานปัญหาตั้งแต่เริ่มใช้จนถึงปัจจุบัน พบ 5 ปัญหาที่ร้องเรียนมากสุด คือถนน 12,264 เรื่อง ทางเท้า 4,061 เรื่อง แสงสว่าง 3,231 เรื่อง ขยะ 2,559 เรื่อง และน้ำท่วม 2,389 เรื่อง ส่วนหน่วยงานที่รับเรื่องเข้ามามากที่สุด คือ สำนักการโยธา, เขตจตุจักร, สำนักการจราจรและขนส่ง, เขตประเวศ และเขตคลองเตย ทั้งนี้ ภายหลังเริ่มใช้ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ ได้รับรายงานปัญหาเพิ่มสูงขึ้นกว่า 54.5 เท่า ปัจจุบันได้รับรายงาน 70,806 เรื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง