เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) นำแถลงผลปฏิบัติการ ‘เด็ดปีกมังกร’ จับเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2565 สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 16 ราย แบ่งเป็น

– กลุ่มรับจ้างเปิดบัญชีม้า 8 ราย

– กลุ่มรวบรวมบัญชีม้าเพื่อส่งต่อให้นายทุนชาวจีน 1 ราย

– กลุ่มที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในการหลอกลวง 2 ราย

โดยระบุว่า ผู้ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในการหลอกลวง 2 รายดังกล่าว เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบเงินจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์โอนเข้าบัญชีของเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 2 รายอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทำมานานพอสมควร โดยมีข้อมูลของคนไทยถูกฉกไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้วเป็นพันราย โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ราย อยู่ในส่วนงานที่สามารถดูฐานข้อมูลของผู้เสียหายได้ ซึ่งตำรวจจะดำเนินคดีฉ้อโกง และมาตรา 157 เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่

“สมมุติพี่เป็นตำรวจ ให้เราเช็กทะเบียนราษฎร์หน่อยพี่ก็กด สมมุตินะ แต่อย่าลืมว่ารหัสของพี่ ไอดีการ์ดของพี่มันจะไปขึ้นที่กรมการปกครองว่าใครเป็นคนกดข้อมูล บันทึกเหล่านี้มันจะย้อนกลับมาสู่ตัว สมมุติพี่กดของน้องไป ข้อมูลไปอยู่ที่คอลเซ็นเตอร์ แล้วคอลเซ็นเตอร์โทรกลับไปหาน้อง รู้ได้ไงว่าเรามีบริษัท จดทะเบียนเท่าโน่นเท่านี้ สร้างความเชื่อให้กับคอลเซ็นเตอร์ แล้วคนยิ่งอายุมากๆ ไม่รู้ก็โดนหลอกได้ง่าย” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. เล่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามจากทางตำรวจว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงดังกล่าวเป็นคนดูข้อมูลว่าเหยื่อรายใดรวย มีทุนจดทะเบียนทางธุรกิจด้วยเงินจำนวนมาก แล้วจึงค่อยนำชื่อและข้อมูลไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช่หรือไม่ หรือว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ตกเบ็ดเหยื่อได้ก่อน แล้วจึงค่อยมาซื้อข้อมูลของเหยื่อจากผู้ต้องหาในภายหลัง แต่ไม่ได้รับการยืนยันว่า ขั้นตอนใดเกิดขึ้นก่อน-หลัง

รายงานข่าวมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกจับรายแรกเป็นตำรวจ ยศ ‘พ.ต.ท.’  พฤติการณ์คือ จะเข้ารหัสไปกดดูฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของผู้เสียหาย โดยพบว่า เข้าไปกดดูมากจนนับครั้งไม่ถ้วน ส่วนรายที่ 2 มีรายงานว่า เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของกระทรวงแห่งหนึ่ง ผู้ต้องหารายนี้จะเข้าระบบไปล้วงข้อมูลการจดทะเบียนการค้า หรือตราธุรกิจของผู้เสียหายไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย จะมีรายได้จากการขายข้อมูลคนไทยเดียวกันให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีน วันละ 20,000 บาท หรือ เดือนละ 600,000 บาท ซึ่งทางธนาคารพบการเคลื่อนไหวของเงินจากบัญชีม้าเข้ามายังบัญชีของผู้ต้องหา จึงประสานตำรวจตรวจสอบและจับกุมดังกล่าว

สำหรับผู้เสียหายรายล่าสุดที่ถูกฉกข้อมูลทะเบียนราษฎร์ไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นแพทย์อาศัยอยู่ที่จ.เชียงใหม่ โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปลอมเว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI แล้วโทรแจ้งผู้เสียหายว่า ทำความผิดคดีอาญา จะต้องถูกตรวจสอบเงินในบัญชี พร้อมส่งหมายจับปลอมที่มีภาพใบหน้าของผู้เสียหาย และข้อมูลทางธุรกิจไปให้ผู้เสียหายดู ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ โอนเงินไปยังบัญชีม้าจำนวนกว่า 6,970,000 บาท เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกจึงได้แจ้งความออนไลน์ เมื่อ 21 ก.ค. 65

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“บิ๊กตู่” รุกปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แนะเบอร์ไม่คุ้นไม่รับ

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้ Deep Fake ปลอมเป็นตำรวจ ตอนแรกก็ดี พอยิ้ม โป๊ะแตก