นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงกรณีผลิตภัณฑ์ลีน(LYN) มีส่วนผสมของไซบูทรามีน และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไม่อนุญาตให้นำไซบูทรามีน มาเป็นส่วนประกอบของยา และอาหารด้วย รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ห้ามเด็ดขาดตามที่เคยเป็นข่าวไปแล้วนั้น ส่วนห้ามนำเข้า จะไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของ อย. อย่างไรก็ตาม สำหรับสารไซบูทรามีน ถือว่าอันตรายมาก เพราะเมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว อาการมีตั้งแต่ปากแห้ง ใจสั่น จนไปถึงหัวใจเต้นแรง และทำให้เสียชีวิตได้ ยิ่งในผู้ป่วยมีโรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจยิ่งเสี่ยงอันตรายหนัก ซึ่งพบมากในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างว่าลดน้ำหนัก ลดความอ้วนได้ ก็จะมีใส่สารไซบูทรามีน และสารอื่นๆด้วย ซึ่งไซบูทรามีนจะไปมีผลต่อระบบประสาท ทำให้ไม่อยากอาหาร แต่มีอันตรายเสี่ยงเสียชีวิต
“จริงๆแล้วผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างว่าลดน้ำหนักได้นั้น ไม่ใช่แค่สารไซบูทรามีน แต่มีสารอื่นๆอีก ทั้งยาระบาย ฯลฯ สรุปคือ ไม่ว่าจะใส่สารอะไรก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ขอย้ำว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างว่าลดน้ำหนักลดความอ้วนนั้น ไม่เป็นความจริง หนำซ้ำหากไปเชื่ออาจเสี่ยงรับอันตรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาที่ อย.อนุมัติให้กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็จะเป็นในกลุ่มบำรุงร่างกายมากกว่า ไม่มีการอ้างสรรพคุณเกินจริง” นพ.พูลลาภ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า อย่างกรณีผลิตภัณฑ์ลีน มีการเก็บออกจากท้องตลาดหมดแล้วหรือไม่ นพ.พูลลาภ กล่าวว่า ต้องบอกตามตรงว่า เราไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงผู้ผลิตผลิตเท่าไหร่กันแน่ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีกฎหมายแจ้งจำนวนการผลิตชัดเจน มีแต่บริษัทหรือโรงงานขนาดใหญ่จะมีระบบเก็บจำนวนไว้หมด แต่ในส่วนของผลิตภัณฑ์ลีน เป็นแบบขายตรง ขายผ่านออนไลน์ ซึ่งไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ที่ผ่านมาก็จะอาศัยความร่วมมือและลงพื้นที่ตรวจสอบ หากเจอก็เก็บคืนให้หมด ซึ่งกรณีผลิตภัณฑ์ลีนที่มีการตรวจจับ ก็เป็นเพราะความร่วมมือระหว่าง อย.และภาคีเครือข่ายต่างๆ และทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.)ช่วยกันจนพบปัญหา
“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างลดน้ำหนัก เข้าไปเจาะตลาดทางวัยรุ่น เด็กและเยาวชนเยอะมาก อย่างเคยถามเยาวชนบางคนก็รู้ว่า มีสารอันตราย แต่ก็ยังยอมกิน เพราะอยากลดน้ำหนัก ตรงนี้ต้องเข้าไปเปลี่ยนทัศนคติ ไปปลูกฝังความถูกต้องใหม่ หลายรายก็มีการขายตรงในสถานศึกษา แต่เชื่อว่าหากครูอาจารย์ทราบก็ต้องห้าม ปัญหาคือ ไม่ทราบ ดังนั้น เราต้องช่วยกันทุกส่วน ทั้งระดับนโยบาย แต่ละกระทรวง สถานศึกษา และระดับครอบครัว” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
ซึ่งหากประชาชนพบเห็นข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ก็สามารถแจ้งมาทาง อย.ได้ตลอด ผ่านสายด่วน โทร.1556 ซึ่งกรณีดังกล่าว ขณะนี้ อย.มีความร่วมมือกับทุกภาคส่วน มีภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการช่วยกันเฝ้าระวัง หรือแม้กระทั่งจัดโครงการ อย.น้อย ในการดึงเด็กและเยาวชนตามสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้ความรู้