ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุด เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะประมาณ 357,358 กิโลเมตร ส่งผลให้คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย
ทำไมถึงเกิดซูเปอร์ฟูลมูน?
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลา 27.3 วัน ส่งผลให้ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก แต่ทว่า ณ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด หรือไกลโลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้ นักดาราศาสตร์จึงใช้ “ช่วงที่สามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง” มากำหนดวันเกิดปรากฏการณ์ ที่เกี่ยวกับตำแหน่งการโคจรของดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลกที่สุด ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee)
ดูซูเปอร์ฟูลมูนได้อย่างไร?
สามารถดูซูเปอร์ฟูลมูนได้ด้วยตาเปล่า โดยมองไปทางทิศตะวันออกในคืนที่เกิดปรากฏการณ์นี้ และจะเห็นได้ชัดเจนว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่และสว่างกว่าปกติ
และเย็นวันนี้ (17 ตุลาคม 2567) ทุกคนสามารถชม ‘ซูเปอร์ฟูลมูน’ ได้ในคืนวันออกพรรษา ช่วงเวลาประมาณ 18:28 น. จากนั้นสามารถชมความสวยงามได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้เตรียมจัดสังเกตการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ชวนดูดาวชมจันทร์ 5 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่
– เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่ โทร. 084-0882261
– โคราช : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. 086-4291489
– ขอนแก่น : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น โทร. 063-8921854
– ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264
– สงขลา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา โทร. 095-1450411