เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 27 พ.ย. อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เปิดเผยว่า เขาจะขอหมายจับ “มิน อ่อง หล่าย” ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าข่มเหงชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

ขณะนี้ คณะผู้พิพากษา 3 คนจะตัดสินว่ามี “เหตุผลอันสมควร” ที่จะเชื่อว่า พลเอกมิน อ่อง หล่าย มีส่วนรับผิดทางอาญาในกรณีการเนรเทศและข่มเหงชาวโรฮิงญาในเมียนมาและบังกลาเทศหรือไม่

ทั้งนี้ ไม่มีกรอบเวลาที่แน่นอนสำหรับการตัดสินใจ แต่โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการตัดสินเกี่ยวกับการออกหมายจับ

เบื้องต้นทางโฆษกของรัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อรายงานที่เกิดขึ้น

การตัดสินใจของอัยการ ICC เกิดขึ้นหลังเพิ่งออกหมายจับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอล โยอาฟ กัลแลนต์

สำหรับกรณีของ มิน อ่อง หล่าย นี้ เกิดจากกรณีชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 730,000 คนต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศระหว่างปฏิบัติการซึ่งผู้สืบสวนของสหประชาชาติระบุว่า ดำเนินการด้วย “เจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

เมียนมาซึ่งมีชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และยืนยันเสมอมาว่าไม่ได้มุ่งเป้าไปที่พลเรือน โดยระบุว่าได้ปฏิบัติการทางทหารมีเป้าหมายที่ผู้ก่อการร้ายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC ตามสนธิสัญญา แต่ในคำตัดสินปี 2018 และ 2019 ผู้พิพากษากล่าวว่า ศาลมีเขตอำนาจศาลเหนืออาชญากรรมข้ามพรมแดนที่ถูกกล่าวหา ซึ่งบางส่วนเกิดขึ้นในประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกของ ICC และกล่าวว่า อัยการสามารถเปิดการสอบสวนอย่างเป็นทางการได้

อัยการระบุว่า “นี่เป็นการยื่นคำร้องขอหมายจับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเมียนมาครั้งแรก และจะมีการยื่นคำร้องเพิ่มเติมตามมา”

ICC ได้สอบสวนอาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญามาเกือบ 5 ปีแล้ว แต่ถูกขัดขวางด้วยการเข้าถึงประเทศที่บากลำบาก และยังเป็นเพราะเมียนมาอยู่ในความวุ่นวายตั้งแต่กองทัพขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2021 ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านที่เริ่มต้นจากการประท้วงอย่างสันติและต่อมาได้พัฒนาเป็นสงครามในหลายแนวรบ

ทีมสอบสวนได้นำหลักฐานต่าง ๆ จำนวนมากมาจากคำให้การของพยาน รวมถึงจากแหล่งข่าวภายในหลายคน หลักฐานเอกสาร และสื่อวิทยาศาสตร์ ภาพถ่าย และวิดีโอที่ได้รับการรับรองความถูกต้อง