วันที่ 23 ธ.ค.67 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี เพื่อพิจารณาการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศในบางอาชีพ และบางกิจการ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะมีการประชุมบอร์ดฯ ในวันนี้ ว่า ในวันนี้เป็นการประชุมบอร์ดฯครั้งที่ 2 หลังถูกเลื่อนจากวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ซึ่งหลายฝ่ายก็คาดหวังว่าวันนี้จะได้ข้อสรุป ซึ่งตนยังหวังตัวเลข 400 บาททั่วประเทศ โดยต้องติดตามช่วงบ่ายวันนี้ ว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่คาดว่าจะมีกรรมการค่าจ้างทั้ง 3 ฝ่ายมาประชุมครบองค์ประชุม แต่หากไม่ครบก็จะยึดมติ 2 ใน 3 ขององค์ประชุม
“ผมเองคาดหวังให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล จากระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา หลังประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท จนถึงวันนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดเพิ่มขึ้นไม่ถึง 100 บาท หรือเฉลี่ยแต่ละจังหวัดอยู่ที่ 3-6 บาทต่อปี
ขณะที่ค่าครองชีพก้าวกระโดดแซงหน้าไปแล้ว วันนี้จึงมอบนโยบายให้กับนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดฯ ให้นำโมเดลการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศมาใช้เป็นต้นแบบ พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้” รมว.แรงงาน กล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ตนวิงวอนและขอฝากไปถึงกรรมการฝ่ายนายจ้างว่า เวลาที่พวกท่านสบาย พวกท่านไม่เคยคิดถึงลูกน้อง แต่วันนี้พวกท่านบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี เราเคยคิดถึงค่าแรงที่ขึ้นตามค่าเฉลี่ย อัตราเงินเฟ้อ และการเจริญเติบโตของ GDP แล้วหรือยัง อย่าเอา 3% ของปีนี้มาเป็นเกณฑ์ชี้วัด ขอให้นำอัตราเงินเฟ้อ บวกอัตราการเติบโตของ GDP ตลอดระยะเวลา 12 ปี มาพิจารณา เพื่อความเป็นธรรมสำหรับผู้ใช้แรงงานตามหลักความเป็นจริงของเศรษฐกิจ และเป็นธรรมต่อลูกจ้าง
เมื่อถามถึงกรณีบริษัทหลายๆ แห่งปิดกิจการหรือมีการเลิกจ้างพนักงานในปีนี้ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การปิดกิจการปัจจุบันของสถานประกอบการ ไม่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการปรับขึ้น จึงไม่อยากให้เอาประเด็นนี้มาเป็นข้ออ้าง และอยากให้มองที่อัตราการจ้างงานปัจจุบันที่มีเพิ่มขึ้นในธุรกิจใหม่ๆ
ตนคิดว่าตรงนี้เป็นวงรอบของการแข่งขันทางธุรกิจใหม่ เข้ามาทดแทนธุรกิจเก่า อย่าไปมองภาพเดียวว่า ปีนี้มีคนถูกปลดคนงาน มีบริษัทกี่บริษัทปิดไปแล้ว แต่ทำไมถึงไม่มีใครเคยพูดถึงว่า ปีนี้มีการจ้างงานเพิ่มเท่าไหร่ ในสิ่งที่เป็นธุรกิจใหม่ๆ มีแต่คนโจมตีว่าการขึ้นค่าแรง ทำให้ธุรกิจปิดกิจการ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่จะประกาศค่าแรงด้วยซ้ำ
“ส่วนจะเป็นตัวเลข 400 บาททั้งประเทศหรือบางกิจการ อยู่ที่การหารือของบอร์ดฯ ซึ่งต้องหาจุดที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐให้ได้มากที่สุด แต่ส่วนตัวแล้วอยากให้ประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั้งประเทศ โดยรัฐบาลก็จะมีมาตราการการเยียวยาออกมาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ” นายพิพัฒน์ กล่าว