เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ณ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย และ นพ.วัชรนันท์ ถิ่นนัยธร รองผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ร่วมกันแถลงสถานการณ์และแนวทางการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์นี้
ข่าวที่น่าสนใจ
พาวเวอร์แบงก์เบิ้มใส่หน้าพนักงานสาวไต้หวัน เกิดจากความร้อนสูง
วัยรุ่นโชว์อาวุธปืน ท้าวัดได้หมด โดนรวบคาบ้านแล้ว
นพ.วัชรนันท์ รายงานข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษว่า ในปัจจุบันมีจังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับดีมาก (สีฟ้า) จำนวน 28 จังหวัด ระดับดี (สีเขียว) จำนวน 16 จังหวัด ระดับปานกลาง (สีเหลือง) จำนวน 25 จังหวัด และจังหวัดที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม (37.6-75 มคก./ลบ.ม) ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรปราการ น่าน กรุงเทพมหานคร และพระนครศรีอยุธยา
อย่างไรก็ตาม นพ.วัชรนันท์ ได้เตือนว่าในช่วงปลายสัปดาห์นี้ คาดว่าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะทวีความรุนแรงขึ้น โดยค่าฝุ่นจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับสีส้มในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ดังนั้น ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ควรตรวจสอบค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน และสวมหน้ากากป้องกันเมื่อค่าฝุ่นสูง
นพ.ธิติ อธิบายว่า ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจผ่านถุงลมปอด จะซึมผ่านกระแสเลือดและเข้าไปรบกวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด เกิดอาการหรือกระตุ้นอาการที่เป็นอยู่เดิมให้รุนแรงมากขึ้น
แนวทางการป้องกันที่สำคัญคือ ลดการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด โดยหากอยู่ในอาคารควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด หรือใช้เครื่องฟอกอากาศ และหากออกนอกอาคารควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัยชนิด N95 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นละอองขนาด 0.3 ไมครอน ได้ประมาณ 95% หรือหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งหากสวมให้แนบสนิทกับใบหน้า จะป้องกันฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนได้ประมาณ 50-70%
นพ.ธิติ กล่าวถึงอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นอื่นๆ ที่มีการใช้กัน เช่น แผ่นกรองรูจมูก หรือยาฉีดพ่นจมูก ว่าฝุ่น PM 2.5 ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายทางปากได้ ส่วนการใช้ปิโตรเลียมเจลลี/วาสลีนทาจมูก ยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าสามารถป้องกันหรือดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้
สำหรับเครื่องฟอกอากาศแบบคล้องคอหรือเครื่องฟอกอากาศแบบพกพา ซึ่งใช้หลักการปล่อยประจุ (ไอออน) ดักจับฝุ่นขนาดเล็กให้รวมตัวกันและตกลงมานั้น การใส่ขณะอยู่ในที่โล่งแจ้ง อาจมีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นได้น้อยลง
นอกจากแนวทางการป้องกันตนเองแล้ว นพ.ธิติ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น ลดการเผา ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เช็กสภาพรถเป็นประจำ ดับเครื่องยนต์เมื่อจอด เช็ดทำความสะอาดบ้านแบบเปียก และปลูกต้นไม้ที่มีใบหยาบและมีขน เช่น โมก ไทรเกาหลี สนฉัตร ทองอุไร พวงครามออสเตรเลีย ศรีตรัง หางนกยูงไทย เป็นต้น เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นในอากาศ