จากกรณีการประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 3/2568 เมื่อช่วงเวลา 09.30 น. ที่ผ่านมา โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะกำกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นประธานกรรมการ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่ง 12 (ขาดประชุม 1 ตำแหน่ง คือ ผบ.ตร.) รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ อีก 7 ราย (ขาดประชุม 2 คน คือ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
ทำให้มีกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 19 ราย จากทั้งหมด 22 ราย เพื่อพิจารณาวาระสำคัญที่จะมีการเสนอขอมติรับเป็นคดีพิเศษ ได้แก่ เรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณี การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญา ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 6 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เรื่องสืบสวนที่ 151/2567 การร้องขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มีมติเห็นชอบให้เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) หรือการเป็นคดีความผิดทางอาญาอื่น เนื่องด้วยพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) มาตรา 209 (อั้งยี่) ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 107 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 (1) และความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ว่า การพิจารณาของบอร์ด กคพ. ได้ข้อสรุปชี้ขาด 11 เสียง จากทั้งหมด 18 เสียง ว่า ให้รับคดีอาญาสมคบกันในฐานความผิดฟอกเงิน แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ไว้เป็นคดีพิเศษตาม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยพบว่ามีกรรมการไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ทั้งนี้ ความผิดฐานฟอกเงินถือเป็นความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ อยู่แล้ว