วันนี้ (10 มี.ค.68) นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ หลังจากมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ว่าหากเปรียบเทียบในทุกปีของช่วงเดือนรอมฎอน มีการพูดคุยว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาในช่วงเดือนนี้จะไม่มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ปีนี้เข้าเดือนรอมฎอนได้สัปดาห์เดียวมีการใช้ความรุนแรง อย่างกรณีที่ไปโจมตี อส.ซึ่งเป็นการกระทำต่อพลเรือน เท่าที่ทราบมาใครก็ตามที่อยู่กับรัฐก็คือ ศัตรูของเขา แม้จะไม่ใช่มุสลิม
นายทักษิณ ลงพื้นที่ไปแล้วคิดเองเออเองว่าประชาชนค่อนข้างต้อนรับ เปรียบเทียบว่าเมื่อก่อนมองตาเขียวแต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว นายทักษิณต้องอย่าลืมว่าเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่มีใครลืม แม้นายทักษิณจะขออภัย แต่ในคดีตากใบ สส.พรรคเพื่อไทยที่เป็นจำเลยในคดีไม่ยอมไปปรากฏตัวที่ศาล ทำให้คดีไปต่อไม่ได้เลย
หากคดีตากใบดำเนินไปได้ อย่างน้อยที่สุดมีการเปิดเผยความจริงในศาล ให้รู้ว่ามีใครที่เกี่ยวข้อง ศาลจะพิพากษาอย่างไรก็ถือว่ายุติ และเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย หากมันคาราคาซังแบบนี้ ก็ยังมีอะไรค้างคาใจกันอยู่ ทั้งนี้การที่นายทักษิณ เป็นที่ปรึกษาของนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียนั้น มาเลเซียอยู่ในฐานะผู้อำนวยการสะดวกการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ฝ่ายไทยได้เจรจา โดยมารยาทเขาจะไม่แทรกแซง แต่ปัญหาคือ วิธีการพูดคุยต้องคุยทั้งบนโต๊ะและในพื้นที่
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่พอจะมองออกว่าใครเป็นใคร เจ้าหน้าที่ก็รู้ คนที่ทำงานภาคใต้ก็รู้ว่า ควรคุยกับใคร แต่ปัญหาคือ รัฐบาลไม่ได้ส่งสัญญาณในการที่จะคุยกับคนเห็นต่าง แต่กลับไปคุยส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาคนที่เห็นด้วยกับรัฐบาลมากกว่า จึงทำให้ปัญหายืดเยื้อ หลายคนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องงานการข่าวไม่น่าเชื่อถือ แต่เหตุใดถึงไม่รู้มาก่อนว่าจะมีการก่อเหตุในลักษณะนี้ เหตุการณ์สำคัญคือ ผู้ก่อเหตุหรือผู้ติดตามบีอาร์เอ็นก็คือคนในพื้นที่ ทำอย่างไรจะคุยกันให้เข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ
นางอังคณา มองว่าในคดีตากใบแทนที่นายทักษิณจะขอโทษ นายทักษิณควรพูดว่าเพราะอะไรถึงเกิดขึ้น ถึงไม่ให้ สส.พรรคตนเองมาขึ้นศาล ควรจะเปิดเผยความจริงด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นเนื่องจากมีคนหาย และถูกฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม
โดยคณะเจรจาสันติภาพชุดที่แล้ว มีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงเข้าไปอยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้ง เรานำข้อขัดแย้งหรือคนที่ชาวบ้านเชื่อว่าละเมิดเขาไปนั่งอยู่บนโต๊ะ มันจะเป็นไปได้อย่างไร สำคัญในการพูดคุยคือทั้งสองฝ่ายต้องเท่ากัน ต้องคุยและสร้างความไว้วางใจกัน เหมือนที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า เรายังคุยไม่ถูกคน ซึ่งตนเองก็เห็นด้วย
หากจะนำฝ่ายทหารเข้าไปในคณะเจรจา อาจจะต้องมีกองกำลังติดอาวุธเป็นตัวแทนเข้ามาพูดคุยด้วย แต่เวลาที่คุยก็ต้องมีหลักประกันว่า เขาจะปลอดภัยหากปรากฏตัว ส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาน่าจะไม่ได้ประโยชน์ สภาผู้แทนราษฎรก็มีคณะกรรมาธิการสันติภาพ แต่ไม่เห็นไปไหน คุยกับคนไปทั่ว ดังนั้นความจริงใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
สิ่งที่น่าติดตามคือรัฐสภาได้มีมติยกเลิกคำสั่ง คสช. ฃ เรื่องข้อจำกัดสภาที่ปรึกษา จึงอยากให้มีการตั้งสภาที่ปรึกษา ใช้การเมืองนำการทหารให้เต็มที่ เพราะที่ผ่านมาเป็นการทหารนำการเมืองมาโดยตลอด อะไรที่ไม่ถูกใจก็ใช้ IO คุกคามผู้เห็นต่าง หากไว้ใจอยากให้ช่วยก็ยินดี แต่อยากจะให้คุยกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เอาอกเข้าใจกัน อย่างคุณทักษิณไปก็อาจจะคิดไปเองว่ามีคนต้อนรับ แต่จริง ๆ ไม่ใช่แบบนั้น เพราะที่คุยกับชาวบ้านหลายคนก็ไม่ได้รู้สึกอะไรแบบนั้น