กรณีที่มีคลิปในโลกโซเชียล ประเด็นกรรมการวิสามัญงบประมาณกรุงเทพมหานคร ปี 2568 ตัดงบประมาณเกี่ยวกับเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูงของกรุงเทพมหานคร กรณีเกิดแผ่นดินไหว
นางกนกนุช ระบุว่า ในฐานะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ตนเองและเพื่อนสมาชิกทุกคนเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยและความสะดวกสบายของพี่น้องประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสมาชิกสภากรุงเทพทุกคนให้ความสำคัญกับความปลอดภัย รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว และไม่อยากจะเชื่อว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้จะเกิดขึ้นที่ประเทศไทย
ทำให้ขณะนี้หลายคนพูดถึงโครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินแรงต้านทานแผ่นดินไหวตึกสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีการนำคลิปแชร์ในโลกโซเชียล ซึ่งคลิปดังกล่าวถือว่าสร้างความเสียหายให้กับสภากรุงเทพมหานคร ในเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ตนนั่งเป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณปี 2568
ดังนั้น ตนจึงต้องทำหน้าที่รายงานโครงการทุกโครงการ ทั้งที่ผ่านการพิจารณาและไม่ผ่านการพิจารณาของกรรมการ ซึ่งในทุกโครงการจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิสามัญกรุงเทพมหานครมาก่อน
ประเด็นที่หลายคนกำลังพูดถึงคือโครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังแรงต้านทานแผ่นดินไหว ซึ่งผ่านความเห็นของอนุกรรมการวิสามัญโยธาแล้ว เมื่อคณะอนุกรรมการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ จึงเสนอเรื่องมาที่คณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณ 2568 ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจากหลายพรรคการเมือง และจากอิสระ รวมถึงผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร
เหตุผลที่คณะอนุกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาตัดงบโครงการดังกล่าว เนื่องจาก โครงการไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม เนื้อหาทีโออาร์ยังขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ว่าจะนำผลการประเมินมาใช้ในการปฏิบัติจริงอย่างไร คณะกรรมการจึงเกรงว่าจะไม่เกิดประโยชน์อะไร
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการยังเห็นว่า ในเอกสารของโครงการระบุเพียงอย่างเดียวคือ การจ้างที่ปรึกษา เช่นเดียวกับเนื้อหาลักษณะงานก็เป็นการจ้างที่ปรึกษาเช่นกัน ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับ ก็ระบุเพียงการรายงานข้อมูล
นอกจากนั้นยังพบว่าการขอใช้งบประมาณ 9 ล้านบาท เป็นการใช้ในส่วนของบุคลากรเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3.5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือน 3 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการสำรวจและวิเคราะห์ผล 2.4 ล้าน ค่าจัดทำรายงาน 7.9 หมื่น รวมแล้ว 9 ล้านบาท
ซึ่งในโครงการนี้ ถ้ามีการปรับปรุงรายละเอียดวัตถุประสงค์โครงการให้ชัดเจน สมาชิกสภากรุงเทพมหานครก็พร้อมจะเห็นชอบโครงการดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการวิสามัญพบ คือตัวเครื่องที่ใช้ตรวจวัดไม่มีขาย ต้องใช้การประดิษฐ์ขึ้นมา และการติดตั้งเครื่องจะต้องติดตั้งในอาคารสูงของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเครื่องนี้ไม่ใช่การบอดว่าอีก 5 นาที แผ่นดินจะไหว เหลืออีก 3 นาทีแผ่นดินจะไหว แต่เป็นเครื่องที่วัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ซึ่งในความเป็นจริงหากเกิดแผ่นดินไหว ทุกคนต้องเอาตัวรอด ไม่มีใครที่จะวิ่งไปดูตัวเครื่องว่าแรงสั่นสะเทือนเท่าไหร่
ดังนั้น ต้องชี้แจงกับสังคมว่าการพิจารณางบประมาณของกรุงเทพมหานครนั้น เป็นการพิจารณาโดยดูจากเอกสาร ซึ่งผ่านความเห็นของอนุกรรมการฝ่ายโยธาแล้ว
ทั้งนี้ อยากจะชี้แจงกับทุกคนว่า เครื่องดังกล่าวนั้นไม่ใช่เครื่องเตือนแผ่นดินไหว แต่เป็นเครื่องวัดการสั่นสะเทือนในอาคารสูงของ กทม. หลังเกิดแผ่นดินไหวแล้ว
ส่วนตัวเชื่อว่า หากผู้บริหารกรุงเทพมหานครเสนอของบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนแผ่นดินไหว สมาชิกสภากรุงเทพกรุงเทพมหานครทุกคนจะให้ผ่านในเรื่องนี้อย่างแน่นอน ดังนั้น โครงการที่จะของบประมาณควรเป็นโครงการที่ครอบคลุมหลายมิติ ทั้งการบรรเทาและเตือนภัยก่อนการเกิดแผ่นดิน
ในนามของคณะกรรมการวิสามัญ ให้ความสำคัญกับประชาชน ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน การรักษาพยาบาล ซึ่งโครงการอื่นๆ ที่มีความชัดเจน กรรมการวิสามัญงบประมาณก็อนุมัติงบงบประมาณให้
จึงอยากชี้แจงว่า การรายงานข้อมูลในวันนั้น เป็นการรายงานข้อมูลของโครงการ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญงบประมาณประจำปี 2568 หากประชาชนไม่เข้าใจสามารถขอข้อมูล หรือขอตรวจสอบเอกสารดังกล่าวได้ที่สภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครทุกคนยินดีให้ข้อมูลเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดีกว่าการใช้เนื้อหาที่บิดเบือนทางการเมือง เพื่อมุ่งทำลายสภากรุงเทพมหานคร
สิ่งสำคัญที่คณะกรรมการวิสามัญทุกคนยึดถือ เนื่องจากการใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครเป็นเงินภาษีของประชาชน ต้องใช้อย่างรอบคอบ โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยทั่วกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หนูน้อยอารมณ์ดี! “น้องสเปซ” หัวเราะชอบใจ เมื่อถูกพ่อเป็กฟัดแก้ม น่ารัก น่ามันเขี้ยวสุดๆ
ดีต่อใจแฟนคลับ 20 ปี “อั้ม-เมย์” เปิดใจถึงกันและกัน