วันที่ 5 เมษายน นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการด้านยุทธศาสตร์และแผน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมและรูปแบบเบื้องต้นของโครงการ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบรวมถึงได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุง ข้อมูลรายละเอียดโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกรูปแบบแนวเส้นทางเลือกของโครงการจะพิจารณาเปรียบเทียบปัจจัยหลัก ที่ใช้ในการพิจารณา 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบประเมินข้อดีและข้อด้อยของรูปแบบทางเลือก ทั้งนี้รูปแบบทางเลือกที่มีคะแนนรวมสูงสุดจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดที่จะถูกนำไปใช้ในการออกแบบรายละเอียดต่อไป
นายกาจผจญกล่าวว่า จากการศึกษาวิเคราะห์คะแนนทั้ง 4 เส้นทางเลือก จากปัจจัยทั้ง 3 ด้าน พบว่าแนวเส้นทางเลือกที่ 3 ได้รับการคัดเลือกว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด เพื่อนำไปศึกษาตามขั้นตอนต่อไป โดยรูปแบบเบื้องต้นของโครงการ มี 2 รูปแบบ คือ 1.ถนนระดับดินออกแบบเป็นทางพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร มีแบ่งทิศทางด้วยกำแพงกันชนคอนกรีต มีความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร มีไหล่ในกว้าง 1.00 เมตร มีไหล่นอกกว้าง 2.50 เมตร พร้อมรั้วกั้นแบ่งระหว่างถนนเส้นทางหลัก และถนนบริการที่ออกแบบให้ช่องจราจรมีความกว้าง 3.50 เมตร มีไหล่ในกว้าง 1.00 เมตร และมีไหล่นอกกว้าง 1.0 เมตร และรูปแบบโครงสร้างสะพานข้ามทะเลที่เหมาะสม แบ่งออกเป็น 2 ช่วงความยาว
2.โครงสร้างสะพานช่วงความยาวพิเศษออกแบบให้มีความยาวช่วงเสาประมาณ 200 เมตร เพื่อรองรับการลอดผ่านสำหรับเรือขนาดใหญ่ โดยมีรูปแบบโครงสร้างสะพานที่มีความเหมาะสม 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโครงสร้างสะพานคานขึงและรูปแบบโครงสร้างสะพานคานยื่นสมดุล โครงสร้างสะพานช่วงความยาวทั่วไป เป็นโครงสร้างสะพานที่ออกแบบให้มีความยาวช่วงเสาประมาณ 50-60 เมตร โดยมีรูปแบบโครงสร้างสะพานที่มีความเหมาะสม 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโครงสร้างสะพานคานรูปกล่องและรูปแบบโครงสร้างสะพานคานสมดุล โดยโครงการจะใช้เงินก่อสร้างประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 13,000 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 2,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างได้ในปี 2572 เปิดบริการปี 2576 จะเป็นอีกทางเลือกให้ประชาชนเดินทางสู่เกาะช้างสะดวกและส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น