เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner
จากกรณี 7 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จากเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายประชาชน บริเวณริมถนนประเสริฐมนูกิจ เป็นเหตุให้ นายธนานพ เกิดศรี บุตรชายของ พ.ต.ท.ธนชัย เกิดศรี อดีต สว.กก.2 บก.ปทส. ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อ 4 ธ.ค.67 เวลา 01.40 น. ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 7 รายทราบว่าเข้าใจผิด คิดว่ารถคันที่ นายธนานพ ขับมาเป็นรถที่แหกด่านจุดตรวจหลบหนี เนื่องจากเป็นรถยนต์ยี่ห้อ รุ่น และสีเดียวกัน กระทั่งตำรวจ 7 ราย ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ล่าสุด 9 กรกฎาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกำกับการสอบสวนคดีความผิดแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ร่วมกันแจ้งข้อกล่าวหา ตำรวจจราจรกลาง 7 ราย ประกอบด้วย
1.ร.ต.อ.ทวีพงษ์ อึดทุม รอง สว.งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร.
2.ส.ต.อ.วีรพงษ์ มะณี ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร.
3.ส.ต.อ.ปพนธีร์ เลิศอนันต์ ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร.
4.ส.ต.อ.กีรติ ประสพโชค ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร.
5.ส.ต.อ.วัชรวี ทวีบุรุษ ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร.
6.ส.ต.อ.จักรินทร์ ใคร่ครวญ ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร.
7.ส.ต.ท.ณัฐพงษ์ ดุษฎี ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 2 กก.1 บก.จร.
ในฐานความผิด พ.ร.บ.อุ้มหาย มาตรา 5 คือ ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 157 มาตรา 309 มาตรา 310 และมาตรา 172 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ขณะที่ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม เปิดเผยว่า สำหรับขั้นตอนในวันนี้ คือการเรียกทั้ง 7 ผู้ต้องหาให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งภายหลังมีการแจ้งข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการปล่อยตัวกลับ ไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เพราะผู้ต้องหามีการเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีการหลบหนี ซึ่งระหว่างนี้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ หรือ 15 วัน ผู้ต้องหาทั้งหมดมีหน้าที่ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามความประสงค์ ซึ่งถ้าหากพนักงานสอบสวนได้รับเอกสารการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ก็จะต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดคำให้การ เพื่อดูว่าจะต้องมีการเรียกสอบสวนปากคำเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และเป็นการเรียกเพิ่มในประเด็นใด อย่างไรก็ตาม การสรุปสำนวนพร้อมความเห็นส่งฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริต จะเกิดขึ้นภายในเดือน ส.ค. จากนั้นพนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริต จะมีการสรุปสำนวนสั่งฟ้องไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางต่อไป