วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ให้แต่งตั้งองค์คณะไต่สวน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีปรากฏคลิปเสียงสนทนา กับ สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
โดย นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และ นายประภาศ คงเอียด กรรมการ ป.ป.ช. ร่วมเป็นองค์คณะไต่สวน
การตั้งองค์คณะไต่สวนครั้งนี้ เป็นไปตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 51 ซึ่งเปิดช่องให้ ป.ป.ช. ตั้งกรรมการไม่น้อยกว่า 2 คนไต่สวนได้ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง มีผลกระทบต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง หรือ เกี่ยวพันกับองค์กรตุลาการ
ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาเบื้องต้น และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 10 วัน โดยให้มีการถอดเทปคำสนทนา และจัดทำคำแปลจากภาษาต่างประเทศอย่างถูกต้อง ครอบคลุมการสอบพยาน และการศึกษาคดีเปรียบเทียบ เช่น คดีของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ที่ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งจากกรณีแต่งตั้งบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ
สำหรับคดี “แพทองธาร” นั้น จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนตามขั้นตอน หากพบข้อเท็จจริงว่ามี “มูล” อาจนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง ก่อนที่ ป.ป.ช. จะพิจารณาชี้มูลความผิดหรือไม่ต่อไป
คดีนี้มีต้นเรื่องมาจากการที่ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้ลงนามส่งหนังสือกล่าวหาไปยัง ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมี คณะสมาชิกวุฒิสภา ร่วมลงชื่อ กล่าวหาว่า น.ส.แพทองธาร อาจกระทำการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือ อาจเข้าข่ายเจตนาปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ในวันเดียวกันนั้น นายมงคล ยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ทั้งนี้ การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. เป็นกระบวนการคู่ขนานกัน หากผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง จะส่งฟ้องไปที่ศาลฎีกา ต่อไป