เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันนี้ 14 มิ.ย.61 นายกรวิชญ์ บูรณะกิจ ผู้เริ่มรณรงค์ ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเป็นอันดับที่ 6 ของโลก หนึ่งในแหล่งที่มาของพลาสติกเหล่านั้นคือ ถุงพลาสติกใส่สินค้า เมื่อถุงพลาสติกเหล่านี้ถูกทิ้งลงไปในแม่น้ำจนลงสู่ทะเล จะเกิดเป็นมลพิษแก่สัตว์และสิ่งแวดล้อมระยะยาว เพราะถุงพลาสติก 1 ใบใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี หรือแม้ว่าบางคนจะไม่สนใจเรื่องสัตว์และสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกเหล่านี้ก็ยังก่อปัญหาอื่นๆ ที่กระทบต่อทุกคนโดยตรง เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาไมโครพลาสติกที่สัตว์น้ำกินเข้าไปก็กลับเข้ามาเป็นอาหารที่มนุษย์รับประทาน

สำหรับวิธีการเปลี่ยนแปลงที่นำเสนอ คือ ต้องการเรียกร้องให้ธุรกิจห้างร้านรายใหญ่ เช่น 7-11, Tesco Lotus, Big C, กลุ่ม Central และกลุ่ม The Mall ริเริ่มหรือจับมือกันในการเปลี่ยนนโยบาย เลิกการแจกถุงพลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียว หากลูกค้าต้องการถุงให้คิดเงินค่าถุงพลาสติกในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากมองว่าเป็นปัญหาใหญ่แต่แก้ไขได้ง่าย แต่อาจจะมีปัญหาเนื่องจากธุรกิจอาจกังวลเกี่ยวกับผู้บริโภค จึงคิดว่าหากแคมเปญนี้เริ่มที่ผู้บริโภคเองอาจช่วยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้

ขณะนี้ ร้านค้าในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ไม่แจกถุงพลาสติกแล้ว โดยหากลูกค้าต้องการก็จะคิดเงินค่าถุงพลาสติก 2 บาทต่อถุง สามารถลดจำนวนถุงจาก เดือนละ 102,465 ใบ เหลือเพียง 4,795 ใบต่อเดือนภายใน 3 เดือนแรกที่เริ่มโครงการ อีกหลายมหาลัย เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ก็มีนโยบายคล้ายๆ กันในการลดปริมาณขยะพลาสติก และก็มีผลลัพธ์ใกล้เคียงกับของมหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับต่างประเทศ ร้านค้าส่วนใหญ่ในประเทศเบลเยียม เยอมนี และอิตาลีใช้วิธีการนี้ลดขยะพลาสติกมานานแล้ว ซึ่งผู้บริโภคจะเตรียมถุงผ้าหรือถุงพลาสติกใช้แล้วนนำมาใส่สินค้า หากผู้บริโภคไม่ได้นำถุงมา ร้านค้าจะมีบริการจำหน่ายถุงพลาสติกที่มีเนื้อหนาสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง โดยในอังกฤษสามารถลดประมาณถุงพลาสติกได้ถึงร้อยละ 83 ใน 1 ปี จากการคิดค่าถุงพลาสติกในราคาประมาณ 2 บาท

ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีต้นทุนทางอ้อมในรูปของภาษีที่จะต้องเสียไปในการจัดการขยะพลาสติก จัดการกับปัญหาน้ำท่วม ฯลฯ เพราะฉะนั้นในระยะยาว ผู้บริโภคน่าจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และต้องการเสนอให้ภาคธุรกิจนำรายรับจากการขายถุงพลาสติกเข้าสมทบกองทุนช่วยจัดการขยะด้วย

 

ทั้งนี้ แคมเปญนี้ตั้งเป้าให้มีผู้ร่วมลงชื่อ 100,000 รายชื่อ เพื่อนำไปเสนอกับห้างร้านขนาดใหญ่ทราบว่า มีความต้องการจากผู้บริโภคอีกมากมายที่ยินดีให้ธุรกิจเปลี่ยนนโยบายโดยการไม่แจกถุงพลาสติกให้ลูกค้า หากลูกค้าต้องการจะต้องซื้อถุงพลาสติกเหล่านี้ในราคาที่เหมาะสม โดยเมื่อเวลา 12.20 น. มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 5,786 คน

ขณะที่ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แนวทางการจ่ายเงินเพิ่มหากต้องการใช้ถุงพลาสติก ยังเป็นเพียงแนวทางที่ภาคเอกชนเริ่มดำเนินการบ้างแล้วบางส่วน แต่รัฐบาลยังไม่ได้ลงรายละเอียดเรื่องนี้ เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาผลกระทบเพื่อไม่ให้เป็นภาระของประชาชนมากเกินไป

ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับผู้ประกอบการด้านพลาสติกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ โดยจะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ผลิตถุงพลาสติก โดยเฉพาะต้องสามารถย่อยสลายเองได้ในเวลาระยะเวลาอันสั้น หรือลดการใช้เม็ดพลาสติกลงในกระบวนการผลิตถุงพลาสติกให้มากขึ้น จากนี้จะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด