เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยนำปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาสร้างโมเดลอัจฉริยะวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ทั้งพฤติกรรมด้านการเงินและความต้องการ เพื่อนำเสนอสินเชื่อให้ลูกค้าเอสเอ็มอีผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นธนาคารแรก โดยให้วงเงินกู้สูงสุด 1 ล้านบาท และไม่ใช้หลักประกัน

ไม่ต้องยื่นเอกสาร เพียงใช้เวลา 1 นาที สามารถรับเงินทันที โดยปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีผ่านมือถือ 3,000 ล้านบาทสำหรับการนำเสนอสินเชื่อเอสเอ็มอีผ่านมือถือ นอกจากระบบจะรู้ว่าใครมีความต้องการสินเชื่อแล้ว เมื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับแจ้งข้อเสนอสินเชื่อผ่านเมนูไลฟ์พลัสบนแอปพลิเคชั่นเคพลัสเพียง 3 ขั้นตอน คือ

1. ลูกค้าเลือกข้อเสนอ

2. ธนาคารพิจารณาอนุมัติ

3. ลูกค้าคลิกตกลงรับสินเชื่อ เงินจะโอนเข้าบัญชีลูกค้าทันทีภายใน 1 นาที โดยให้วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท

การนำ AI และเทคโนโลยีของมือถือเข้ามาสร้างโมเดลอัจฉริยะในการวิเคราะห์ข้อมูล และความต้องการสินเชื่อ จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์หลายอย่าง เช่น ลดขั้นตอนในการขอสินเชื่อ ได้วงเงินที่เพียงพอในเวลาที่ต้องการโดยไม่ต้องร้องขอ ไม่เสียโอกาสทางธุรกิจ และยิ่งผู้ประกอบการที่มีการเดินบัญชีสม่ำเสมอ มีวินัยทางการเงิน จะทำให้ธนาคารมีข้อมูลเพียงพอในการใช้ระบบวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอสินเชื่อแก่ลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ก็จะมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

ในอนาคตเมื่อธนาคารมีข้อมูลลูกค้ามากขึ้น ระบบ AI จะสามารถพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล ความต้องการของลูกค้าได้แม่นยำยิ่งขึ้น ก็จะเป็นโอกาสที่จะขยายสินเชื่อให้เอสเอ็มอีได้มากขึ้นและจับกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้นด้วย ทั้งนี้ ในเดือน มิ.ย. พบว่ายอดสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารมีปริมาณการขอเพิ่มขึ้นมากชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก มียอดขายเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อปี มีความต้องการสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจมากขึ้น

ดังนั้น จึงมั่นใจว่ายอดสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในปีนี้ยังเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 6% เป็นสินเชื่อเอสอีปล่อยใหม่ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท จากในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานี้ มียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอี 7 แสนล้านบาท คิดเป็น 38% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร และมีลูกค้าเอสเอ็มอีมากกว่า 200,000 ราย จากสิ้นปีก่อนที่ 6.98 แสนล้านบาท และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 5%